คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างผู้คัดค้านที่1ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างและจำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้รับจ้างมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าค่าจ้างที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นค่าจ้างที่สามารถปรับราคาได้ตามสูตรสัญญาแบบปรับราคาได้ท้ายสัญญาจ้างดังนั้นเมื่อจำเลยที่1โอนสิทธิเรียกร้องการรับค่าจ้างดังกล่าวโดยระบุว่าเป็นสิทธิเรียกร้องทั้งหมดของจำเลยที่1ที่จะพึงเกิดขึ้นตามสัญญาจ้างให้เป็นของผู้คัดค้านที่2จึงต้องหมายความรวมถึงค่าจ้างที่สามารถปรับราคาได้ด้วยโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินดังกล่าวที่ตกเป็นของผู้คัดค้านที่2ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้และผู้คัดค้านที่1ก็มีสิทธิที่จะไม่ส่งเงินจำนวนนั้นตามที่กรมบังคับคดีขออายัดมาได้.

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและร้องขอให้บังคับหนี้เงินตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ต่อมากรมบังคับคดีได้มีหนังสืออายัดเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 1ผู้คัดค้านที่ 1 คัดค้านการอายัดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินดังกล่าวตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ไปแล้วและสิทธิในการรับเงินค่าจ้างที่ปรับราคาได้ซึ่งยังเหลืออยู่นั้นก็ตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 เช่นกัน โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งเงินตามหนังสืออายัดเงินของกรมบังคับคดี ผู้คัดค้านทั้งสองต่างแถลงคัดค้านทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 แล้ว ขอให้ยกคำร้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ผู้คัดค้านที่ 1 ปฏิบัติตามหนังสืออายัดเงินของกรมบังคับคดี ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้คัดค้านที่ 2กับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2511 มีใจความสำคัญว่า ผู้โอนสิทธิเรียกร้องได้ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องของตนที่มีอยู่ต่อลูกหนี้ (หมายถึงผู้คัดค้านที่ 1) ทั้งหมด และในวันเดียวกันที่ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้เอง จำเลยที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ก็ได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องนี้ไปยังผู้คัดค้านที่ 1 มีใจความสำคัญยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ขอเรียนมายังผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาจ้างที่อ้างถึงเพื่อรับทราบว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป สิทธิเรียกร้องทั้งหมดของจำเลยที่ 1 ที่จะพึงเกิดขึ้นตามสัญญาจ้างดังกล่าว ได้โอนเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 แล้วฉะนั้นการชำระเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ขอได้โปรดจ่ายผู้คัดค้านที่ 2นอกจากนี้สัญญาจ้างดังกล่าวยังมีข้อความระบุไว้ชัดเจนใน ข้อ 2 ว่าการจ้างรายนี้ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างได้ตกลงราคากันรวมทั้งค่าสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานเป็นเงิน65,328,912 บาท แต่เป็นค่าจ้างที่สามารถปรับราคาได้ ตามสูตรสัญญาแบบปรับราคาได้ที่แนบท้ายนี้ ฯลฯ เช่นนี้ เมื่อได้พิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวมาประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าที่สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระบุถึงสิทธิเรียกร้องทั้งหมดจึงต้องหมายความรวมถึงค่าจ้างที่สามารถปรับราคาได้ด้วย โดยเหตุที่คดีได้ความว่า เงินที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดจากผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงินค่าจ้างที่สามารถปรับราคาได้ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 เพิ่มให้แก่จำเลยที่ 1 ดังนี้ สิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวย่อมต้องโอนไปเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ฉบับลงวันที่11 ตุลาคม 2521 ด้วย ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินซึ่งตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ และผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีสิทธิที่จะไม่ส่งเงินจำนวนตามที่กรมบังคับคดีขออายัดมาได้ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share