แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งกฎหมายบัญญัติให้มีได้เฉพาะในกรณีตามป.วิ.อ.มาตรา30,31เท่านั้นการที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาผู้เสียหายอื่นจะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมมิได้เพราะไม่ต้องด้วยมาตรา30,31ดังกล่าวทั้งจะอาศัยป.วิ.พ.มาตรา57(2)ซึ่งบัญญัติให้สิทธิบุคคลภายนอกร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยมาบังคับใช้โดยอนุโลมตามป.วิ.อ.มาตรา15ก็ไม่ได้ ปัญหาใดควรจะนำเข้าสู่การวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือไม่ย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของประธานศาลฎีกาโดยตรงคู่ความจะร้องขอขึ้นมาหาได้ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ว่า สมคบกันปลอมพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86,157, 266, 268 และลงโทษ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 266, 268 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ระหว่างพิจารณา นายชัยสิทธิ์ ฐาปนะดิลก และนางพัชนี ศิริพันธ์ต่างยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นางพัชนี ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาเรื่องการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญานั้น ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 และ 31 เฉพาะในกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการหรือพนักงานอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น นอกเหนือจากสองกรณีนี้แล้ว การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่อาจจะมีได้ ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแล้วผู้เสียหายอื่นจะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่อาจกระทำได้ และจะอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2) ซึ่งบัญญัติให้สิทธิบุคคลภายนอกในกรณีร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์หรือจำเลยร่วม ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 มาอนุโลมบังคับใช้ในกรณีนี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะอำนาจฟ้องดังกล่าวถือว่ากฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษโดยเฉาพะในมาตรา 30 และ 31 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามที่ผู้ร้องมีคำขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานี้โดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปนั้น เห็นว่าตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 208 ทวิ ประกอบกับมาตรา 225 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติให้การวินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกานั้น เป็นอำนาจและหน้าที่ของประธานศาลฎีกาโดยเฉพาะ คู่ความจะร้องขอขึ้นมาหาได้ไม่ จึงให้ยกคำขอของผู้ร้องในข้อนี้เสีย”
พิพากษายืน.