คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2604/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

จำเลยเรียกประชุมพนักงานทั้งหมดก่อนเวลาทำงานปกติถึงสองชั่วโมงคำสั่งนัดพนักกานมาประชุมก็ระบุเพียงว่าจำเลยมีความประสงค์จะขอความคิดเห็นและขอความร่วมมือหาได้ระบุเน้นความสำคัญของหัวข้อประชุมไม่ทั้งไม่ปรากฏว่าการประชุมในวันนี้นมีเรื่องสำคัญอะไรโจทก์ไม่ได้ขาดประชุมเพียงแต่มาประชุมไม่ทันกำหนดเวลานัดเท่านั้นและไม่ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างไรการกระทำของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดคำสั่งของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยหรือเป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47และไม่เข้ากรณีที่จะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการลอกกล่าวล่วงหน้า.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างประจำโดยโจทก์มิได้กระทำผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยหลายครั้ง ถือว่าประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เวลาทำงานปกติของจำเลยเริ่มตั้งแต่เวลา 9.30 นาฬิกา ถึงเวลา 19.30 นาฬิกา แต่จำเลยได้นัดประชุมพนักงานทั้งหมดในเวลา 7.30 นาฬิกา อันเป็นเวลาก่อนเวลาทำงานปกติถึงสองชั่วโมง และกรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองขาดประชุมเพียงมาประชุมไม่ทันกำหนดเวลานัดเท่านั้นการกระทำของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวยังไม่พอที่จะให้ฟังว่าจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดคำสั่งของจำเลย นอกจากนี้ตามคำสั่งของจำเลยที่นัดพนักงานมาประชุมนั้น ก็ระบุเพียงว่าจำเลยมีความประสงค์จะขอความคิดเห็นและขอความร่วมมือเท่านั้น หาได้ระบุเน้นความสำคัญของหัวข้อประชุมไม่ อีกทั้งไม่ปรากฏด้วยว่าการประชุมในวันนั้นมีเรื่องสำคัญอะไรและการที่โจทก์ทั้งสองมาประชุมไม่ทันกำหนดเวลานัดได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างไร การกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและไม่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 และกรณีไม่เข้าเหตุที่จะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสอง พิพากษายืน

Share