คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1372/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1มีชื่อเป็นคู่สัญญาซื้อรถบรรทุกคันเกิดเหตุและมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์นั้นไว้กับจำเลยร่วมเมื่อเกิดเหตุรถชนกันขึ้นอ. บุตรชายของจำเลยที่2และเป็นผู้มีส่วนในการดำเนินกิจการของจำเลยที่1อยู่ด้วยได้ให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวนว่ารถเป็นของจำเลยที่1ส. เป็นคนขับรถของจำเลยที่1โดยในวันเกิดเหตุอ. ได้สั่งให้ส. ขับรถเอามันเส้นของจำเลยที่1ไปส่งที่อำเภอบางประกง นอกจากนี้จำเลยที่2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่1ได้มอบอำนาจให้อ. ไปรับรถคืนจากพนักงานสอบสวนโดยอ้างว่าเป็นรถของจำเลยที่1พยานหลักฐานต่างๆเหล่านี้รับฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่1และส. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่1ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่1 เมื่อโจทก์นำสืบให้ปรากฏแล้วว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์แม้โจทก์จะไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ว่าค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใดศาลก็อาจกำหนดให้ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิด แม้จำเลยที่1ที่2จะขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเป็นเวลาเกิน1ปีนับแต่วันละเมิดแต่ได้เรียกเข้ามาในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่1ที่2จำเลยร่วมจึงไม่อาจยกอายุความละเมิดขึ้นต่อสู้ให้ยกฟ้องคดีโจทก์ได้.

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสองสำนวนนี้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยโจทก์ฟ้องความว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของครอบครองรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียนน.ม. 09615 มีนายสำลี เนียรไธสง เป็นลูกจ้างผู้ขับขี่ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียนจ.บ. 01144 มีนายเกษม มุสิกรัตน์ เป็นลูกจ้างผู้ขับขี่ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2515 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 7 และบุตรโจทก์อื่นกับคณะนักศึกษาวิทยาลัยครูจันทบุรีได้เช่ารถโดยสารของจำเลยที่ 3ไปทัศนศึกษาที่วนอุทยานภูกระดึงโดยมีนายเกษมลูกจ้างจำเลยที่ 3เป็นผู้ขับ เมื่อสวนทางกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีนายสำลีเป็นผู้ขับ ต่างก็ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่นเป็นเหตุให้รถปะทะกัน รถโดยสารพังเสียหาย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 7และบุตรของโจทก์อื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บและตาย จึงขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม. 09615มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 นายสำลีไม่ใช่ลูกจ้างขับขี่รถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 รถดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจั๊วปอ แซ่ฉั่ว ที่ซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดคิงส์ยนต์ แต่เนื่องจากนายจั๊วปอเป็นลูกหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1จึงให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาเป็นผู้ซื้อเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ เมื่อซื้อมาแล้วนายจั๊วปอได้ประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัทธนกิจประกันภัยจำกัดลงชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงขอให้ศาลชั้นต้นเรียกบริษัทธนกิจประกันภัยจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะรถยนต์ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น.ม. 09615 นายสำลี ผู้ขับรถคันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองได้ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อแต่ฝ่ายเดียว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สำหรับจำเลยร่วมให้รับผิดในวงเงิน 100,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นคู่สัญญาซื้อรถบรรทุกคันเกิดเหตุและมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์นั้นไว้กับจำเลยร่วมนั้นเป็นหลักฐานที่ฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1เป็นเจ้าของรถคันดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับที่นายอุดมรักษ์บำรุงซึ่งเป็นบุตรชายของจำเลยที่ 2 และเป็นผู้มีส่วนในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 อยู่ด้วยได้ให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวนว่ารถเป็นของจำเลยที่ 1 นายสำลีเป็นคนขับรถของจำเลยที่ 1ในวันเกิดเหตุนายอุดมได้สั่งให้นายสำลีขับรถเอามันเส้นของจำเลยที่ 1 ไปส่งที่อำเภอบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถบรรทุกคันเกิดเหตุจริง โดยนายสำลีคนขับเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เพราะนายอุดมคงไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับผิดโดยไม่เป็นความจริง นอกจากนั้นการที่จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายอุดมไปรับรถคืนจากพนักงานสอบสวนโดยอ้างว่าเป็นรถของจำเลยที่ 1 นั้น ทำให้น่าเชื่อยิ่งขึ้นอีกว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 และนายสำลีเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์ฟ้อง
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมบางสำนวนฎีกาว่าค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นสูงเกินไปหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายบางรายการของโจทก์เป็นค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่เป็นการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐจะต้องมีใบเสร็จรับเงิน ค่าเช่ารถไปยังสถานที่ทำการรักษาพยาบาลและค่าปลงศพก็อาจหาพยานหลักฐานได้ โจทก์ไม่ได้เสนอหลักฐานดังกล่าว ค่าใช้จ่ายของโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ แม้ศาลจะใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้เอง และจำเลยไม่มีพยานหลักฐานหักล้างข้ออ้างของโจทก์ ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์นำสืบให้ปรากฎแล้วว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์ แม้โจทก์จะไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ว่าค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใดศาลก็อาจกำหนดให้ได้ตามควรแก่พฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งการละเมิดทั้งนี้ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์ไม่เสียหาย หรือไม่มีสิทธิได้ค่าเสียหายจำนวนใด เพียงแต่อ้างว่าค่าใช้จ่ายบางประเภทศาลไม่ควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ให้เพราะไม่มีใบเสร็จรับเงินหรือพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น ซึ่งจำเลยก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายรายการไหนบ้าง ของโจทก์คนใดฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่แจ้งชัด ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้
ที่จำเลยร่วมฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดียังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับาระหว่างผู้เอาประกันภัยแดังกล่าวใช้บังคับระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย โจทก์เป็นบุคคลภายนอกเรียกให้ผู้รับประกันภัยรับผิดในนามของผู้เอาประกันภัย โจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่จะเรียกร้องเอากับผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อนับแต่วันละเมิดถึงวันที่เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี แล้วจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์หาได้เป็นผู้ฟ้องจำเลยร่วมให้รับผิดในฐานะที่จำเลยร่วมทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ หากแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาในคดีในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2จำเลยร่วมจะยกอายุความละเมิดขึ้นต่อสู้ให้ยกฟ้องคดีโจทก์หาได้ไม่เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1ที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจะปฏิเสธไม่ยอมรับผิดหาได้ไม่
พิพากษายืน.

Share