คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1455/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 แล้ว ย่อมเปลี่ยนสถานะจาสังหาริมทรัพย์ธรรมดากลายมาเป็นสังหาริ่มทรัพย์ชนิดพิเศษ การโอนกรรมสิทธิ์จึงต้องทำการจดทะเบียนให้ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักรฯ ด้วย มิฉะนั้นถือว่าไม่สมบูรณ์
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ตกลงขายเครื่องจักรผลิตปุ๋ยเคมีให้โจทก์ แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรดังกล่าวให้แก่โจทก์ ดังนี้กรรมสิทธิ์ในตัวเครื่องจักรจึงยังไม่เปลี่ยนมือไปยังโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปหลอกลวงโจทก์เพื่อขอรับหนังสือสำคัญการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและโจทก์หลงเชื่อมอบหนังสือสำคัญดังกล่าวให้ไป อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น แม้หากจะเป็นจริง การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ยังไม่เข้าองค์ประกอบเป็นความผิด เพราะหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนนั้นยังเป็นของจำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 2 นำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรให้จำเลยที่ 1 ต่อเจ้าพนักงานจึงมิใช่เป็นการแจ้งความเท็จ หรือกล่าวเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งข้อความลงในเอกสารตามฟ้องของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๕๐, ๑๓๗, ๒๖๗, ๘๓, ๙๐, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งประทับฟ้องเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๑๓๗, ๒๖๗, ๘๓, ๙๐, ๙๑
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗ ซึ่งเป็นกรรมเดียวกันและมาตรา ๓๔๑ รวมสองกระทงจำคุกคนละ ๑ ปี ปรับคนละ ๔,๐๐๐ บาท รอการลงโทษไว้ ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา ๒๙, ๓๐
โจทก์ฎีกาขอไม่ให้รอการลงโทษ
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบพอสรุปได้ว่า จำเลยที่ ๒ ตกลงขายเครื่องจักรผลิดตปุ๋ยเคมีให้โจทก์ โจทก็ชำระราคาครบถ้วนและรับมอบเครื่องจักรไปแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ต่อมาจำเลยทั้งสองสมคบกันด้วยเจตนาทุจริต โดยจำเลยที่ ๑ กล่าวเท็จหลอกลวงโจทก์ให้ส่งมอบหนังสือสำคัญการจดทะเบียนเครื่องจักรไปแล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ผู้โอนกระทำในนามข้อห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานปุ๋ยผลดีอุตสาหกรรม ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งเป็นความเท็จเพราะจำเลยที่ ๒ ได้โอนหุ้นแก่โจทก์แล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์เป็นผู้จัดการ
พิเคราะห์ แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๓ ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “จดทะเบียนเครื่องจักร” หมายถึงการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ หรือการจดทะเบียนนิติกรรมอย่างอื่นในภายหลังจากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงกว่า เครื่องจักรใดเมื่อได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้ว ย่อมสามารถนำไปจดทะเบียนนิติกรรมประเภทอื่นได้ด้วย เช่นการจดทะเบียนจำนองหรือขายฝากตามมาตรา ๕ และ มาตรา ๑๓ แห่ง พระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน นอกจากนี้มาตรา ๑๒ ก็บัญญัติว่า ในกรณีที่เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติ่นี้แล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากรายการที่ได้จดทะเบียนไว้ให้ผู้ถือหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเกี่ยวกับเครื่องจักรนำหนังสือสำคัญการจดทะเบียนมาขอจดทะเบียนใหม่ต่อนายทะเบียนที่ได้ออกหนังสือสำคัญการจดทะเบียนนั้น ภายในกำหนดสามสินวันนับแต่วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น หากมีการจดทะเบียนนิติกรรมในลักษณะใดก็ย่อมต้องบังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนั้น ๆ และถือว่าเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้วย่อมเปลี่ยนสถานะจากสังหาริมทรัพย์ธรรมดากลายมาเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ การโอนกรรมสิทธิ์จึงต้องทำการจดทะเบียนให้ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. ๒๕๑๔ ด้วย มิฉะนั้นถือว่าไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น โดยผลของกฎหมายดังกล่าวตราบใดที่โจทก์และจำเลยที่ ๒ ยังมิได้ทำการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์คือเครื่องจักรจึงยังไม่เปลี่ยนมือไปยังโจทก์และจากข้อเท็จจริงตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ก็ยอมรับว่าการซื้อขายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียน ดังนั้น ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ใช้ให้จำเลยที่ ๑ ไปหลอกลวงโจทก์เพื่อขอรับหนังสือสำคัญการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร และโจทก์หลงเชื่อมอบหนังสือสำคัญดังกล่าวให้ไป อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น แม้หากความจริงจะเป็นดังโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ยังไม่เข้าองค์ประกอบเป็นความผิด เพราะหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนนั้นยังเป็นของจำเลยที่ ๒ และเมื่อจำเลยที่ ๒ นำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรให้จำเลยที่ ๑ ต่อเจ้าพนักงาน จึงมิใช่เป็นการแจ้งความเท็จ หรือกล่าวเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งข้อความลงในเอกสารตามที่โจทก์กล่าวหา และสำหรับหุ้นที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ได้โอนให้โจทก์หมดแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานปุ๋ยผลดีอุตสาหกรรมนั้น เห็นว่า โดยนิตินัยจำเลยที่ ๒ ยังคงอยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้าง ฯ ดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๒ ไปทำนิติกรรมโอนขายเครื่องจักรในนามของห้างฯ ขายให้แก่จำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นเรื่องโต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่งเท่านั้น หามีมูลเป็นความผิดทางอาญาแต่ประการใดไม่
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share