คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 189/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำเลยตามข้อบังคับของธนาคารฯจำเลยฉบับที่4ข้อ15(4)และข้อ18ที่กำหนดว่าพนักงานต้องออกจากงานเมื่อเกษียณอายุคือการที่พนักงานมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์นั้นมิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างเพราะมิได้กำหนดข้อผูกพันให้จ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์แต่เป็นการกำหนดคุณสมบัติพนักงานของจำเลยเป็นการทั่วไปดังนั้นพนักงานผู้มีอายุครบ60ปีบริบูรณ์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานเมื่อธนาคารฯจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มีอายุครบ60ปีบริบูรณ์ธนาคารฯจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ เงินบำเหน็จที่ธนาคารฯจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินที่มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯจึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย ข้อบังคับของธนาคารฯจำเลยฉบับที่17ว่าด้วยการลาและการจ่ายเงินเดือนระหว่างลาข้อ11วรรคแรกกำหนดว่า”ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีหนึ่งได้ 10วันโดยไม่ถือเป็นวันลา”และความในวรรคท้ายกำหนดว่า”การลาการอนุญาตให้ลาพักผ่อนประจำปีให้เป็นไปตามที่ผู้จัดการกำหนด”เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้จัดการได้กำหนดวันให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีไว้การที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจึงหาตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2490 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,800 บาทต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2528 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 100,800 บาท และมีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 20 วัน เป็นเงิน 11,200 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะแรก จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยเป็นจำนวน 638,400 บาท เงินค่าบำเหน็จดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเกินกว่าค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยและค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 100,800 บาทและค่าทำงานในวันหยุดจำนวน 11,200 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4 ข้อ 15(4) และข้อ 18 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของโจทก์จำเลย ถือได้ว่าเป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งโจทก์ทราบดีแล้วว่า เมื่อโจทก์มีอายุครบ60 ปีบริบูรณ์ก็จะต้องถูกเลิกจ้าง จึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4 ข้อ 15(4) และข้อ 18 ที่กำหนดว่า พนักงานต้องออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ และการเกษียณอายุคือการที่พนักงานมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้น มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างเพราะมิได้กำหนดข้อผูกพันให้จ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติพนักงานของจำเลยเป็นการทั่วไปพนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่า ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 29ระบุว่า “การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ให้ถือว่าเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน” ซึ่งโจทก์ได้รับเงินบำเหน็จไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีก พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 29 มีหลักเกณฑ์ว่า ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับต่อเมื่อมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป เว้นแต่การออกจากงานเพราะเหตุที่ระบุไว้ ผู้ที่ลาออกจากงานก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหากมีระยะเวลาทำงานถึงกำหนดและกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานถึงแก่ความตาย จำเลยก็ยังต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทผู้ปฏิบัติงานนั้นด้วย ดังนี้ เงินบำเหน็จจึงเป็นเงินที่มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างกับค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ตามเอกสารหมายเลข 4 และ 5 ท้ายคำให้การซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเลือกหยุดพักผ่อนประจำปีในวันใดก็ได้ตามแต่โจทก์จะเลือกแต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเอง และจำเลยก็ไม่เคยมีคำสั่งให้โจทก์มาทำงานในวันหยุด การที่โจทก์มาทำงานโดยไม่หยุดพักผ่อนประจำปีเป็นความสมัครใจของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่17 ว่าด้วยการลาและการจ่ายเงินเดือนระหว่างลา ข้อ 11 วรรคแรกกำหนดว่า “ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีหนึ่งได้10 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา” และความในวรรคท้ายกำหนดว่า “การลาการอนุญาตให้ลาพักผ่อนประจำปีให้เป็นไปตามที่ผู้จัดการกำหนด”ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้จัดการได้กำหนดวันให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีไว้ การที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจึงหาตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานไม่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share