คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่ามูลหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ขาดอายุความเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกา เจ้าหนี้ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 เกินไปโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้รู้ขณะชำระว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระในส่วนที่เกินจึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้ภายในกำหนด 1 ปี เมื่อล่วงเลยกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่เจ้าหนี้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน คดีขาดอายุความ เจ้าหนี้ไม่อาจนำมูลหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 วันที่ 28 มิถุนายน 2532 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 434,793.82 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 8359/2531 เจ้าหนี้กับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 370,658.53 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 323,190 บาท นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2530 ถึงวันที่27 มิถุนายน 2532 จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 106, 130(8)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า มูลหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ขาดอายุความฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ เจ้าหนี้จึงนำมาขอรับชำระหนี้ไม่ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ความข้อนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาว่าหนี้ใดเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 การที่จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าส่งมอบคลังสินค้าที่เช่าให้เจ้าหนี้ผู้เช่ามีพื้นที่น้อยไปกว่าที่จำเลยที่ 1 มีคำเสนอให้เช่าและตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 นั้น จำเลยที่ 1มีสิทธิรับค่าเช่าจากเจ้าหนี้ได้ตามส่วนพื้นที่ที่ให้เช่าตามความเป็นจริงเท่านั้น ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 ประกอบมาตรา 466 ส่วนค่าเช่าที่รับไว้เกินโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้รู้ในขณะชำระว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระในส่วนที่เกินจึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธินำคดีไปฟ้องเรียกคืนในฐานเป็นลาภมิควรได้ภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนค่าเช่าดังกล่าวเมื่อวันที่4 ตุลาคม 2528 ก็แสดงว่าเจ้าหนี้ได้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนนับแต่วันนั้นแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 28 กันยายน 2530 จึงเป็นการล่วงเลยระยะเวลา 1 ปี คดีขาดอายุความต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 419 แล้วเจ้าหนี้ไม่อาจนำมูลหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้

Share