คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337-338/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องและได้นำเงินจำนวน 529,846.58 บาท มาวางที่ศาลชั้นต้นเพื่อเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษา แต่ขอให้ศาลระงับการจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเพื่อการชำระหนี้หากคดีถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต่อมาเมื่อคดีถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 4 ต้องรับผิด โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ขอรับเงินที่จำเลยที่ 4 นำมาวางศาลดังกล่าวไปในวันที่ 22 เมษายน 2553 จำนวน 201,390.48 บาท และ 234,723.06 บาท ตามลำดับ คงเหลือเงินในวันดังกล่าว 105,843.04 บาท ศาลชั้นต้นจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้จำเลยที่ 4 ผู้มีสิทธิได้รับเงินที่เหลือทราบ หากจำเลยที่ 4 ทราบแล้วไม่มารับเงินภายในห้าปี เงินดังกล่าวจึงจะถือว่าเป็นเงินค้างจ่ายและทำให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่คดีนี้หลังจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 รับเงินแล้วปรากฏว่ามีเงินคงเหลือ ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้จำเลยที่ 4 ผู้มีสิทธิรับเงินทราบ เงินดังกล่าวจึงยังไม่เป็นเงินค้างจ่ายอยู่ที่ศาลชั้นต้นที่ผู้มีสิทธิต้องเรียกเอาเสียภายในห้าปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (เดิม) และยังไม่ตกเป็นของแผ่นดิน

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทั้งสองสำนวนเรียกตามเดิม
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา และวันที่ 9 มีนาคม 2552 จำเลยที่ 4 ได้นำเงินจำนวน 529,846.58 บาท มาวางศาลเพื่อเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแต่ขอให้ศาลระงับการจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2552 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 157,352 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 181,808.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ที่ 1 จำนวน 4,000 บาท แทนโจทก์ที่ 2 จำนวน 4,000 บาท คดีเป็นอันถึงที่สุด เนื่องจากศาลไม่รับรองให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2553 โจทก์ทั้งสองได้มาขอรับเงินชำระหนี้ที่จำเลยที่ 4 วางไว้ต่อศาล โดยโจทก์ที่ 1 รับไปเป็นเงินจำนวน 201,390.48 บาท โจทก์ที่ 2 รับไปเป็นเงินจำนวน 234,723.06 บาท
วันที่ 16 ตุลาคม 2560 จำเลยที่ 4 ยื่นคำแถลงขอรับเงินวางศาลเพื่อชำระหนี้ที่เหลือจากที่โจทก์ทั้งสองได้รับไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำแถลงเนื่องจากมีการนำส่งเงินดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินไปแล้ว
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 มีว่า เงินวางศาลของจำเลยที่ 4 ที่คงเหลือภายหลังจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 รับไปแล้ว เป็นเงินค้างจ่ายที่จำเลยที่ 4 ต้องเรียกเอาภายในห้าปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 (เดิม) หรือไม่ เห็นว่า วันที่ 9 มีนาคม 2552 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องและได้นำเงินจำนวน 529,846.58 บาท มาวางที่ศาลชั้นต้นเพื่อเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษา แต่ขอให้ศาลระงับการจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเพื่อการชำระหนี้หากคดีถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต่อมาเมื่อคดีถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 4 ต้องรับผิด โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ขอรับเงินที่จำเลยที่ 4 นำมาวางศาลดังกล่าวไปในวันที่ 22 เมษายน 2553 จำนวน 201,390.48 บาท และ 234,723.06 บาท ตามลำดับ คงเหลือเงินในวันดังกล่าว 105,843.04 บาท ศาลชั้นต้นจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้จำเลยที่ 4 ผู้มีสิทธิได้รับเงินที่เหลือทราบ หากจำเลยที่ 4 ทราบแล้วไม่มารับเงินภายในห้าปี เงินดังกล่าวจึงจะถือว่าเป็นเงินค้างจ่ายและทำให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่คดีนี้หลังจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 รับเงินแล้วปรากฏว่ามีเงินคงเหลือ ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้จำเลยที่ 4 ผู้มีสิทธิรับเงินทราบ ตามบันทึกข้อความของนักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการของศาลชั้นต้นลงวันที่ 19 ตุลาคม 2560 เงินดังกล่าวจึงยังไม่เป็นเงินค้างจ่ายอยู่ที่ศาลชั้นต้นที่ผู้มีสิทธิต้องเรียกเอาเสียภายในห้าปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 (เดิม) และยังไม่ตกเป็นของแผ่นดิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนให้ยกคำแถลงขอรับเงินคืนของจำเลยที่ 4 ตามศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 4 รับเงินที่วางศาลเพื่อชำระหนี้แล้วคงเหลือจำนวน 105,843.04 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามชั้นศาลให้เป็นพับ

Share