แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 157 เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต ก็เป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 6 รายการ ราคาประมาณ 18,386,244.73 บาท คือ 1. เงินสด 8,599,000 บาท 2. เงินในบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 037-2-02xxx-x ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 2,127,869.92 บาท 3. เงินในบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 347-2-08xxx-x ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 1,931,892.60 บาท 4. เงินในบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 037-2-03xxx-x ชื่อผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 1,842,417.76 บาท 5. เงินในบัญชีเงินฝาก ธนาคารออมสิน เลขที่ 01-0121-60-008xxx-x ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 1,053,606.36 บาท และ 6. เงินในบัญชีเงินฝาก ธนาคารออมสิน เลขที่ 01-0121-60-007xxx-x ชื่อผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 2,831,458.09 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ให้เงินสด จำนวน 8,599,000 บาท พร้อมดอกผล เงินในบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 347-2-08xxx-x จำนวน 1,931,892.60 บาท พร้อมดอกผล เงินในบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 037-2-03xxx-x จำนวน 1,842,417.76 บาท พร้อมดอกผล เงินในบัญชีเงินฝาก ธนาคารออมสิน เลขที่ 01-0121-60-008xxx-x จำนวน 1,053,606.36 บาท พร้อมดอกผล เงินในบัญชีเงินฝาก ธนาคารออมสิน เลขที่ 01-0121-60-007xxx-x จำนวน 2,831,458.09 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน และเงินในบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 037-2-02xxx-x ที่ฝากเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2542 จำนวน 300,000 บาท เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2544 จำนวน 300,000 บาท และเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2547 จำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกผล ตามข้อตกลงในการฝากเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เหลือจากบัญชีนี้ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้คัดค้านที่ 1 ในขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่า กับพวก ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างและคณะกรรมการส่วนผู้ควบคุมงานต่อสร้างเรือ รวม 7 คน ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาลอาญาในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 84/2547 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 274/2547 คดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 8560-8561/2558 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกรวม 7 คน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 2 ปี สำนักงาน ป.ป.ช. รายงานให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก พบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงยึดและหรืออายัดไว้ ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกชี้แจงแสดงหลักฐานต่อคณะกรรมการธุรกรรม และคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วมีมติให้ยึดทรัพย์สินบางส่วนรวม 7 รายการ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้แจ้งต่อพนักงานอัยการเพื่อให้ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน พนักงานอัยการพิจารณาแล้วขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 6 รายการ ราคารวม 18,386,244.73 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านทั้งสองอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรสาว 2 คน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2544 นางอุบล มารดาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 กับนางมาลินี เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์นำพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาใช้บังคับย้อนหลังกับคดีนี้เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่จำต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับหรือไม่ หากพิจารณาได้ความว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่ใช่โทษทางอาญา จึงใช้บังคับย้อนหลังได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองประการต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองที่ว่า การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เป็นการกระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงไม่เป็นความผิดมูลฐานนั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) บัญญัติว่า “ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8560-8561/2558 ว่า การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) แม้ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจะไม่ได้วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการกระทำโดยทุจริต ก็ไม่ทำให้การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินได้ ส่วนปัญหาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 จะได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สินจากการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ อันจะถือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่นั้น เป็นปัญหาที่ศาลจะได้วินิจฉัยในคดีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8560-8561/2558 วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมเจ้าท่าได้แก้ไขสัญญาในงวดที่ 5 โดยฝ่าฝืนต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 136 และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้ขาย ดังนี้ แม้ศาลฎีกาจะไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่การเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้ขาย อาจเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมาจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งเมื่อการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นความผิดมูลฐาน คณะกรรมการธุรกรรมย่อมมีอำนาจตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ ตามมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และเมื่อเห็นว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินย่อมมีอำนาจร้องขอให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินได้ตามมาตรา 49 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองในประเด็นนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ