คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 – 2 เป็นพลตำรวจ ได้สมคบกันไปจับผู้เสียหายมา 2 คน บอกว่าสงสัยว่าลักควายของจำเลยที่ 3 และใส่กุญแจมือพามาบ้านจำเลยที่ 4 ในระหว่างเดินทาง จำเลยที่ 1 ได้เอาปืนยาวตีศีรษะผู้เสียหายให้เอาเงินมาคนละ 300 บาท ถ้าไม่ให้จะฆ่าทิ้งเสียในคืนนี้ ผู้เสียหายยอมรับจะให้คนละ 250 บาท แต่เวลานั้นยังไม่มีเงิน จำเลยจึงบอกให้ผู้เสียหายขายควายและให้เอา เรือนที่บ้านและไร่ยาสูบขายฝากผู้อื่นไว้แล้วจำเลยที่ 1 ก็รับเอาเงินที่ขายควายและขายฝากเรือน ที่บ้านและไร่ยาสูบไปดังนี้ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 270 และมาตรา 136 ฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจจริต หาใช่เป็นการปล้นทรัพย์ เพราะมิใช่การขู่เข็ญชิงเอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของเจ้าทรัพย์ หากแต่เป็นการที่จำเลยบังคับให้เขาให้หรือให้เขาหาทรัพย์ หรือผลประโยชน์อันมิควรจะได้ตามกฎหมายมาให้แก่ตัวมันโดยมันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่บังคับโดยทางอันมิชอบ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 268, 270, 301 แต่ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสมว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 270, 136 แต่โจทก์อ้างบทหรือมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา 192 วรรค 4.

ย่อยาว

ความว่า จำเลยทั้ง ๔ คนไปบ้านนายก๋วน จำเลยที่ ๑ บอกนายก๋วนว่าถูกสงสัยว่า ลักควายของนายเป๊กจึงจับตัวไปบ้านนายแก้ว และได้จับนายแก้วไปอีกคนหนึ่งและใส่กุญแจมือนายก๋วนติดต่อกัน พอเวลาค่ำก็พากันมาถึงดอยกิ่วทับยาง จำเลยที่ ๑ เอาปืนตีศีรษะนายก๋วน นายแก้ว บอกให้เอาเงินมาคนละ ๓๐๐ บาท ถ้าไม่ให้จะฆ่าทิ้งเสียในคืนนี้ นายก๋วนนายแก้วยอมรับจะให้คนละ ๒๕๐ บาท แต่เวลานั้นยังไม่มีเงิน แล้วพากันไปบ้านจำเลยที่ ๔ ๆ บอกนายก๋วนให้ขายควายแก่นายถา แล้วพากันมาบ้านนายก๋วน นายถานับเงินให้จำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๒๕๐ บาท ส่วนนายแก้วเอาเรือนที่บ้าน และไร่ยาสูบขายฝากไว้กับนายสิงห์ ๒๕๐ บาท นางสิงห์ส่งเงินให้จำเลยที่ ๑ โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๖๘,๒๗๐,๓๐๑,๑๗๐,๗๑ แก้ไขมาตรา ๗ และใช้เงินแก่ผู้เสียหาย จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีอยู่ในฐานสงสัย พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๗๐ กะทงหนึ่ง และผิดตามมาตรา ๓๐๑ ที่แก้ไขมาตรา ๗ อีกกะทงหนึ่ง ให้รวมกะทงลงโทษจำเลยไว้คนละ ๑๐ ปี และให้ใช้เงินแก่เจ้าทรัพย์ด้วย
จำเลยที่ ๑, – ๒, – ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๗๐ และมาตรา ๑๓๖ ฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจจริต อีกกะทงหนึ่ง หาใช่ปล้นทรัพย์ไม่ เพราะมิใช่การบังคับขู่เข็ญ ชิงเอาทรัพยไปจากความครอบครองของเจ้าทรัพย์ หากแต่เป็นการที่จำเลยบังคับให้เขาให้หรือให้เขาหาทรัพย์ หรือ ผลประโยชน์อันมิควรจะได้ตามกฎหมายให้แก่ตัวมัน โดยมันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจและตำแหน่ง และหน้าที่บังคับโดยทางมิชอบ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงนั้น โจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิด หรือ บาทมาตราผิด ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.ม.วิ.อาญา มาตรา ๑๙๒ วรรค ๔
พิพากษาแก้ ให้จำคุกจำเลยที่ ๑, – ๒ คนละ ๙ ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ ๓ มีความผิดฐานสมรู้ จึงให้จำคุกไว้ ๖ ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์.

Share