คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525-526/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติให้สิทธิคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านใช้สิทธินี้โดยเป็นผู้ร้องขอไปแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขออย่างเดียวกันอีกในเดือนเดียวกันโดยอ้างเหตุใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้คัดค้านสามารถยกขึ้นอ้างได้ในขณะยื่นคำร้องขอครั้งก่อน และประเด็นตามคำร้องทั้งสองครั้งเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีตามคำร้องขอไปแล้ว ถือว่าเป็นการที่ผู้คัดค้านรื้อร้องฟ้องให้ศาลวินิจฉัยกันใหม่อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียว คำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านฉบับหลังจึงซ้ำกับคำร้องขอฉบับแรก ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ปัญหานี้แม้ผู้ร้องมิทันยกขึ้นต่อสู้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพิ่งยกขึ้นในคำแก้อุทธรณ์ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้คงเรียกบริษัทล็อบบี้ ซีวิล จำกัด หรือบริษัทบ้านโพธิ์เฮาส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนแรกและเป็นผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้ร้อง เรียกบริษัทชินทรัพย์ วัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนแรกและเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้าน
สำนวนแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
สำนวนหลัง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2555 หมายเลขแดงที่ 70/2557
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน คดีเสร็จการไต่สวน แล้วพิพากษาว่า คำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2555 หมายเลขแดงที่ 70/2557 ชอบด้วยกฎหมาย บังคับให้ผู้คัดค้าน (บริษัทชินทรัพย์ วัฒนา จำกัด) ชำระเงินจำนวน 2,813,867.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง (บริษัทล็อบบี้ ซีวิล จำกัด หรือบริษัทบ้านโพธิ์เฮาส์ จำกัด) ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านออกค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายชั้นอนุญาโตตุลาการฝ่ายละครึ่ง กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาล กำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท แทนผู้ร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า สมควรเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวตามคำร้องของผู้คัดค้านหรือไม่ และสมควรบังคับตามคำชี้ขาดนั้นตามคำร้องของผู้ร้อง ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วหรือไม่ สำหรับปัญหาแรกว่าสมควรเพิกถอนคำชี้ขาดของผู้คัดค้านหรือไม่ ผู้ร้องได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ประการหนึ่งด้วยว่า คำร้องนี้ของผู้คัดค้านอาจเป็นคำร้องซ้ำกับคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านเคยยื่นต่อศาลชั้นต้นมาก่อนแล้ว จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำร้องนี้เป็นคำร้องซ้ำหรือไม่ จากการตรวจสำนวนพบว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ร้องในข้อพิพาทที่ยื่นต่อคณะอนุญาโตตุลาการเคยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2555 หมายเลขแดงที่ 70/2557 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 โดยอ้างว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) เพราะคำชี้ขาดนั้นที่วินิจฉัยว่าสัญญาจ้างที่พิพาทกันเป็นนิติกรรมอำพราง ใช้บังคับกันไม่ได้ ต้องใช้บทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพราง อันได้แก่ สัญญาจ้างแรงงาน มาใช้บังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง เป็นการแปลกฎหมายคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในชั้นตรวจคำฟ้อง (คำร้อง) ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง (ซึ่งถือเป็นคำพิพากษา) ว่า “ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการแปลกฎหมายคลาดเคลื่อน แต่โดยเนื้อหาของคำร้องปรากฏว่าผู้ร้องโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการว่าสัญญาที่พิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 หาได้เป็นนิติกรรมอำพรางตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ อันถือว่าเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของอนุญาโตตุลาการ ให้ยกคำร้อง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ผู้ร้องพึงชำระเพียง 13,549 บาท ซึ่งให้เป็นพับ คืนค่าธรรมเนียมในส่วนที่ชำระเกิน” ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องนั้นทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดอุทธรณ์ ทั้งยังยื่นคำแถลงขอรับเงินค่าธรรมเนียมส่วนที่ศาลสั่งคืนไปแล้ว คดีตามคำร้องนั้นจึงถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ผู้คัดค้านก็ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2555 หมายเลขแดงที่ 70/2557 อีก โดยอ้างว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อ้างเหตุผลใหม่ว่า ผู้คัดค้านกับผู้ร้องซึ่งเป็นคู่สัญญาไม่ได้เจตนาตกลงด้วยใจสมัครที่จะบังคับตามสัญญาจ้างหลักรวมทั้งตามข้อตกลงการอนุญาโตตุลาการตามหนังสือสัญญา ข้อ 21 มาตั้งแต่ขณะทำสัญญาแล้ว เพียงแค่ทำสัญญาไว้เพราะขณะนั้นไม่มีแบบพิมพ์สัญญาอื่น ข้อตกลงเรื่องกรณีมีข้อพิพาทต้องเสนออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดจึงไม่มี เมื่อคู่สัญญาไม่ได้เจตนาจะบังคับตามข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการ จึงไม่มีสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเป็นนิติกรรมอำพรางที่ทำให้สัญญาจ้างหลักเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้นสัญญาอนุญาโตตุลาการจึงย่อมเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้นเช่นกัน คณะอนุญาโตตุลาการก็ฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญาจ้างที่พิพาทเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นโมฆะทั้งฉบับ ต้องใช้บทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพราง คือ สัญญาจ้างแรงงาน มาใช้บังคับ ซึ่งสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้ทำเป็นหนังสือ การที่สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะทั้งฉบับย่อมทำให้ข้อสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นข้อตกลงย่อยในสัญญาเป็นการแสดงเจตนาลวงและตกเป็นโมฆะไปด้วย การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้นำสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ สัญญาจ้างแรงงานก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการ คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ร้องกับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อพิพาทนั้นได้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติให้สิทธิคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งผู้คัดค้านได้ใช้สิทธินี้โดยเป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 อ้างว่าการที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาช่วงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะ ต้องใช้บทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับนั้น เป็นการแปลกฎหมายคลาดเคลื่อน แต่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง คดีถึงที่สุดไปแล้ว ผู้คัดค้านกลับมายื่นคำร้องขออย่างเดียวกันอีกในวันที่ 29 เดือนเดียวกัน โดยเปลี่ยนไปอ้างเหตุใหม่ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อพิพาทไม่มีเจตนาตกลงทำสัญญาอนุญาโตตุลาการ และข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นข้อตกลงย่อยก็ตกเป็นโมฆะไปตามสัญญาจ้างหลักแล้ว สัญญาจ้างแรงงานก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาและไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการอีก ซึ่งเหตุผลที่อ้างใหม่นี้ผู้คัดค้านก็สามารถยกขึ้นอ้างได้แต่ในขณะยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดครั้งก่อนอยู่แล้ว และประเด็นตามคำร้องครั้งก่อนและครั้งนี้ก็มีอย่างเดียวกันว่า สมควรเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้ยกคำร้องเพราะเห็นว่าเนื้อหาของคำร้องเป็นการโต้แย้งคำชี้ขาดว่าสัญญาจ้างที่พิพาทไม่เป็นนิติกรรมอำพราง ถือว่าเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการ อันเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีตามคำร้องขอของผู้คัดค้านไปแล้ว มิใช่ยกคำร้องเพราะคำร้องทำไม่ถูกต้องตามแบบพิธีหรือไม่สมบูรณ์ตามที่กฎหมายบัญญัติแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการที่ผู้คัดค้านรื้อร้องฟ้องให้ศาลวินิจฉัยกันใหม่อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ซึ่งเหตุนี้ก็คือ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งหากมีอยู่จริงก็จะเป็นผลต้องให้เพิกถอนคำชี้ขาดนั้น คำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านฉบับหลังต้องให้เพิกถอนคำชี้ขาดนั้น มิใช่เหตุผลที่ผู้คัดค้านสรรหามาอ้างใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของตนจึงซ้ำกับคำร้องขอฉบับแรก ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ปัญหานี้แม้ผู้ร้องมิทันได้ยกขึ้นต่อสู้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพิ่งมายกขึ้นในคำแก้อุทธรณ์ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า สมควรบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ตามคำร้องขอของผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ใช้ชื่อว่า สัญญาจ้างเหมาช่วงก่อสร้างแก้มลิงหนองกะเพลิง คู่สัญญาทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้คณะอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาช่วงเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับกันตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะสัญญาจ้างแรงงานมาใช้บังคับ สัญญาที่ทำเป็นหนังสือในรูปลักษณ์ภายนอกของสัญญาจ้างเหมาช่วงซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของนี้เป็นโมฆะเพราะเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กันของคู่กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานได้หากมีลักษณะเข้าทุกองค์ประกอบของสัญญา และไม่มีข้อบกพร่องขององค์ประกอบทุกข้อในทางกฎหมาย ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการแสดงเจตนา ซึ่งสัญญาจ้างแรงงานนี้ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อมีการทำสัญญาจ้างกันไว้เป็นหนังสือ แม้จะเป็นโมฆะไปในลักษณะของสัญญาจ้างทำของ แต่เนื้อหาของสัญญาจ้างยังอยู่และสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน ข้อสัญญาหรือข้อตกลงในการอนุญาโตตุลาการจึงยังคงมีอยู่โดยอยู่ในรูปของหนังสือ สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ต้องตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคสอง นอกจากนี้ ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “…และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ (ซึ่งหมายถึงอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ความสมบูรณ์ของการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ) ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ” ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างดังกล่าวที่ปรากฏเป็นหนังสือจึงยังมีอยู่ คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำชี้ขาดได้ และคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมายสามารถบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44 การยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 44, 45 ดังที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและกล่าวไว้บางส่วนในอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2555 หมายเลขแดงที่ 70/2557 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

Share