คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848-2849/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท บ. จำกัด ต้องการที่จะใช้รถเครนและรถขุดพิพาท จำเลยที่ 1 ซึ่งต้องการขายรถเครนและรถขุดพิพาทจึงติดต่อกับโจทก์ที่เป็นแหล่งเงินทุนให้ซื้อรถเครนและรถขุดพิพาทเพื่อนำออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าแบบลิสซิ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านเทคนิคของรถเครนและรถขุดพิพาท โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบด้วยการซื้อกลับคืนเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระทั้งหมดหากบริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6 ก็ตกลง โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเข้าทำสัญญาซื้อขายรถเครนและรถขุดพิพาทและทำสัญญาซื้อกลับคืนในวันเดียวกัน แล้วโจทก์นำรถเครนและรถขุดพิพาทออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าตามสำเนาแบบคำขอให้บริการเช่าโดยมีบริษัท ส. จำกัด และ ส. เป็นผู้ค้ำประกันการเช่ารถของบริษัท บ. จำกัด ดังกล่าว ในการนี้โจทก์ได้รับประโยชน์ที่รวมอยู่ในค่าเช่า และจำเลยที่ 1 ได้กำไรจากการขายรถดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามวิธีการประกอบธุรกิจการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ และคู่กรณีต่างมีเจตนาเข้าทำสัญญาซื้อกลับคืนอย่างแท้จริงโดยทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาว่า สัญญาซื้อกลับคืนเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์แยกต่างหากจากสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขายฉบับเดิม ดังจะเห็นได้จากสัญญาซื้อกลับคืนเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน กล่าวคือ หากเกิดกรณีที่บริษัท บ. จำกัด ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า สัญญาซื้อกลับคืนจึงมีผลบังคับ กับมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนแตกต่างจากสัญญาค้ำประกันโดยแจ้งชัด และภายหลังจากที่บริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ก็เข้าผ่อนชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อกลับคืนและหนังสือรับสภาพหนี้ติดต่อตลอดเรื่อยมาจนถึงปี 2549 เป็นเงินรวม 40 ล้านบาทเศษและขอให้โจทก์ฟ้องบริษัท บ. จำกัด เพื่อจะได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไปตามสัญญาซื้อกลับคืนด้วย ซึ่งโดยสภาพแห่งสัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสร้งแสดงเจตนาเข้าทำนิติกรรมแต่อย่างใด สัญญาซื้อกลับคืนจึงมิใช่นิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาค้ำประกันหรือสัญญารับสภาพหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะไม่
โจทก์ จำเลยทั้งหก และบริษัท บ. จำกัด ต่างเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งบริษัท บ. จำกัด ก็เช่ารถเครนและรถขุดพิพาทแบบลิสซิ่งในอัตราค่าเช่าสูงถึงเกือบ 70 ล้านบาท ประกอบกับโดยสภาพของรถก็เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่นำไปใช้ในการประกอบกิจการก่อสร้างเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า จึงหาได้มีลักษณะเป็นการเช่ามาเพื่อใช้สอยตามปกติไม่ นอกจากนี้หนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากสัญญาซื้อขายและสัญญาซื้อกลับคืนพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อการค้า จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบันแก่จำเลยที่ 6 โดยให้ถือว่านิติกรรมสัญญาต่าง ๆ และกิจการใด ๆ ที่จำเลยที่ 6 ทำในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะแทนจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยอมให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทุกประการ ไม่ว่านิติกรรมสัญญาหรือกิจการใด ๆ ดังกล่าวจะได้กระทำลงก่อนหน้านี้ก็ตาม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย และจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือรับสภาพหนี้ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อย่างลูกหนี้ร่วมเช่นกัน

ย่อยาว

สำนวนแรก โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 66,541,063.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 61,273,729.73 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 49,537,828.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 40,425,134.26 บาท นับถัดจากวันที่ 9 เมษายน 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยคืนเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางนาจำนวน 10 ฉบับ ตามใบรับเช็คลงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยสำนวนหลังว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 สำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์สำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในสำนวนแรกให้เรียกว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ตามลำดับ เช่นเดิม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 60,110,913.64 บาท พร้อมเบี้ยปรับร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 4929/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 831/2546 ของศาลชั้นต้น เพียงใด ให้สิทธิโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งหกลดลงตามส่วนนั้นและหากโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ขายรถขุดยี่ห้อโคมัทสุที่พิพาทได้เงินเท่าใด ให้นำมาหักชำระหนี้ได้อีกส่วนหนึ่ง ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท ให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 1ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ (ในสำนวนหลัง) ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
จำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ ตามสำเนาหนังสือรับรอง จำเลยที่ 5 เดิมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แต่ต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และมีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ตามสำเนาหนังสือรับรอง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายรถเครนยี่ห้อซูมิโตโม่2 คัน รถเครนยี่ห้อลิเพอร์ 1 คัน และรถขุดยี่ห้อโคมัทสุ 1 คัน ที่พิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 2,539,370 ดอลลาร์สหรัฐ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อกลับคืนรถเครนและรถขุดพิพาทจากโจทก์ในราคาเดียวกัน ตามสัญญาและสัญญาซื้อกลับคืน แล้วบริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด ทำสัญญาเช่ารถเครนกับรถขุดพิพาทจากโจทก์ในราคา 2,539,370 ดอลลาร์สหรัฐ เช่นกัน ตามสำเนาแบบคำขอใช้บริการเช่าและสัญญาเช่า ต่อมาบริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัดผิดสัญญาเช่า โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าและติดตามยึดรถเครนพิพาท 3 คัน กลับคืนมาจากนั้นเรียกร้องให้บริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด คืนรถขุดพิพาทและชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่า แต่บริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด เพิกเฉย โจทก์จึงยื่นฟ้องบริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด กับพวก ต่อศาลชั้นต้น ตามสำเนาคำฟ้องคดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2554 พิพากษาให้บริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน 5,894,896.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 ตุลาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามสัญญาซื้อกลับคืนกับโจทก์ 8 ฉบับ ตามหนังสือรับสภาพหนี้และบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือรับสภาพหนี้ และโจทก์นำรถเครนพิพาททั้งสามคันที่ยึดคืนมาออกประมูลขาย ตามสำเนาประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ 5 เป็นผู้ซื้อรถเครนพิพาททั้งสามคันได้ในราคา 5,800,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขาย โจทก์นำเงินที่ได้จากการขายรถเครนพิพาทไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 40,425,134.26 บาท ตามตารางแสดงการคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระมาแล้ว และจำเลยที่ 1 ยังออกเช็คพิพาทรวม 10 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์นำเช็คพิพาท 4 ฉบับ ไปทำการเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามสำเนาเช็คและใบคืนเช็ค
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องทั้งหมดประกอบกันเป็นสำคัญว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น และคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วหรือไม่ หาจำต้องนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดีมาเป็นข้อพิจารณาประกอบด้วยดังที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างมาไม่ เมื่อได้พิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์ประกอบเอกสารท้ายฟ้องทั้งหมดแล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 6 จะมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ อย่างไร จำเลยที่ 1 ได้ซื้อรถเครนและรถขุดพิพาทกลับคืนมาแล้วหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงยังต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เต็มจำนวนอีก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้รับประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวนี้อย่างไรและโจทก์มีวิธีคิดคำนวณดอกเบี้ยกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกร้องจากจำเลยทั้งหกอย่างไรนั้นล้วนเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดและถูกต้องแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยและไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกในประการต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้ก่อนฟ้องแล้ว โจทก์จึงมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้นโจทก์มีนางสาวรัตติกร ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์มาเบิกความเป็นพยานประกอบกับหนังสือรับสภาพหนี้ และหนังสือบอกกล่าวพร้อมใบตอบรับไปรษณีย์ แสดงให้ศาลเห็นได้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ ที่จำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกลับคืน ให้แก่โจทก์แต่ละฉบับจะมีกำหนดเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องผ่อนชำระหนี้แต่ละงวดไว้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งภายหลังจากที่มีการทำหนังสือรับสภาพหนี้ อันเป็นฉบับสุดท้ายแล้ว จำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว โจทก์จึงได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยทั้งหกเพื่อให้ชำระหนี้ทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยทั้งหกได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่ก็เพิกเฉย ตามหนังสือบอกกล่าวพร้อมใบตอบรับไปรษณีย์เมื่อจำเลยทั้งหกคงนำสืบกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยว่า ไม่เคยได้รับมอบหนังสือบอกกล่าว ของโจทก์ และตามทางพิจารณาได้ความว่า ภายหลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว บริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด ไม่ยอมชำระหนี้ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทวงถามหรือหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์หรือจำเลยที่ 1 อีก ส่วนที่โจทก์หากได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากบริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องนำเงินที่ได้รับจากการชำระหนี้ดังกล่าวไปหักชำระหนี้ของบริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด และจำเลยที่ 1ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ข้อ 7 หาทำให้หนี้ตามที่ตกลงไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้กลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนและเวลาชำระหนี้ได้ตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งหก ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า หนี้ในรายพิพาทนี้เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนและมีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน หากจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง เมื่อจำเลยทั้งหกไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจึงตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ทั้งปัญหาเกี่ยวกับเรื่องมีการบอกกล่าวทวงถามก่อนฟ้องหรือไม่ ก็เป็นคนละประเด็นกับปัญหาการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกในประการต่อไปว่า กรรมการโจทก์มีอำนาจทำสัญญาพิพาทแทนโจทก์ และจำเลยที่ 6 ทำสัญญาพิพาทโดยมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า เมื่องานที่นายยุน ทำเป็นงานที่ไม่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญาพิพาท แต่จะต้องรับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายก่อน นายยุน จึงจะทำงานได้ตามมาตรา 7 โดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้ประสงค์จะให้คนต่างด้าวทำงานเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตแทนนายยุน ทั้งปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรอง ว่า บริษัทโจทก์แต่งตั้งให้นายยุน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2537 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งหากนายยุน มิได้รับใบอนุญาตทำงานจากอธิบดีกรมแรงงานหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้แล้ว นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทย่อมไม่อาจดำเนินการจดทะเบียนให้นายยุน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ อันเป็นการสอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของนางสาวรัตติกร ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า นายยุน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และได้รับใบอนุญาตทำงานในบริษัทโจทก์ตามกฎหมาย สัญญาและหนังสือรับสภาพหนี้ในรายพิพาทนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งหกยกขึ้นอ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ส่วนที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันในการประกอบธุรกิจ และไม่มีวัตถุประสงค์ไปในทางเสียหายเพื่อรับสภาพหนี้อันไม่ใช่หนี้ของตน หนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบัน ทำขึ้นภายหลังสัญญาพิพาทเป็นการมอบอำนาจและให้สัตยาบันแก่จำเลยที่ 6 เพื่อไปกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับโจทก์ ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 ไปทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำหนังสือรับสภาพหนี้ ดังเช่นจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน หนังสือรับสภาพหนี้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีจำเลยที่ 6 แต่เพียงผู้เดียวลงนามและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 6 เองก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์รับว่า จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทั้งตามเอกสารที่คัดถ่ายจากเว็บไซต์ของจำเลยที่ 5 ก็ได้ความว่า จำเลยที่ 6 เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เพื่อประกอบธุรกิจจำหน่าย ซ่อมแซมเครื่องจักร เคลื่อนย้ายวัสดุหรืออุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมาก และขายเครื่องจักรกลหนักใช้งานแล้ว ซึ่งตามหนังสือรับรอง กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ก็อยู่ในกลุ่มบุคคลเครือเดียวกัน เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกันและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัททั้งหมดตามที่โจทก์กล่าวอ้างมา นอกจากนี้จำเลยที่ 6 ยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ต่อไปว่าเหตุที่โจทก์ต้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เข้ามาเกี่ยวข้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย เนื่องจากโจทก์ไม่มั่นใจในการบริหารงานของจำเลยที่ 1 ว่าจะชำระหนี้ได้ครบถ้วน จึงต้องให้บริษัทในเครือทั้งหมดมาค้ำประกัน ซึ่งสอดคล้องต้องกันกับข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบัน ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 มีอำนาจกระทำกิจการใด ๆ ผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับมีอำนาจลงนามโดยมีตราประทับหรือไม่มีตราประทับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทั้งในฐานะส่วนตัวหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในบรรดาเอกสารและนิติกรรมสัญญาใด ๆ ซึ่งจะต้องทำกับหรือให้ไว้แก่โจทก์รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบรรดากิจการและเอกสารและนิติกรรมสัญญาเช่นว่านั้นโดยให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทุกประการ เสมือนหนึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำด้วยตนเอง และให้บรรดากิจการและนิติกรรมสัญญาทั้งปวงที่ได้กระทำลงก่อนหน้านี้โดยจำเลยที่ 6 นั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ขอให้สัตยาบันและเข้าผูกพันตนในบรรดากิจการและนิติกรรมสัญญาที่ได้กระทำไปแล้วนั้นทุกประการ อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าการทำหนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบัน ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ก็โดยมีเจตนาเพื่อเข้าเกี่ยวข้องและเข้าผูกพันเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามสัญญาพิพาทและหนังสือรับสภาพหนี้ ตามที่จำเลยที่ 6 เบิกความดังกล่าวนั่นเอง และหาได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามหนังสือรับรอง ไม่ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต่างมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้สิน ความรับผิด และการปฏิบัติตามสัญญาของบุคคลอื่นด้วย แม้สัญญาพิพาท และหนังสือรับสภาพหนี้ จะมีจำเลยที่ 6 ลงลายมือชื่อแต่เพียงผู้เดียวพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 แต่ในช่วงระหว่างเวลาที่ทำสัญญาพิพาทและหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 6 แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจลงนามพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ตามสำเนาหนังสือรับรอง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 6 ทำสัญญาพิพาทในคดีนี้จึงย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งหกยกขึ้นอ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกในประการต่อไปว่า สัญญาพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาค้ำประกันการเช่ารถเครนและรถขุดของบริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด และเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่าการทำสัญญาซื้อขายและสัญญาซื้อกลับคืนดังเช่นคดีนี้เป็นไปตามวิธีการประกอบธุรกิจการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ และคู่กรณีต่างมีเจตนาเข้าทำสัญญาซื้อกลับคืนอย่างแท้จริงโดยทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาว่า สัญญาซื้อกลับคืนเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์แยกต่างหากจากสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขายฉบับเดิม ดังจะเห็นได้จากสัญญาซื้อกลับคืน เป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน กล่าวคือ หากเกิดกรณีที่บริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า สัญญาซื้อกลับคืนจึงมีผลบังคับ กับมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนแตกต่างจากสัญญาค้ำประกันโดยแจ้งชัด และภายหลังจากที่บริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ก็เข้าผ่อนชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อกลับคืนและหนังสือรับสภาพหนี้ติดต่อตลอดเรื่อยมาจนถึงปี 2549 เป็นเงินรวม 40 ล้านบาทเศษและขอให้โจทก์ฟ้องบริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด เพื่อจะได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไปตามสัญญาซื้อกลับคืน ด้วย ซึ่งโดยสภาพแห่งสัญญาดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ามิใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสร้งแสดงเจตนาเข้าทำนิติกรรมแต่อย่างใด สัญญาซื้อกลับคืน จึงมิใช่นิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาค้ำประกันหรือสัญญารับสภาพหนี้ดังที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างมาแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะไม่ ส่วนที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างว่าสัญญาพิพาทเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้น ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์ จำเลยทั้งหก และบริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด ต่างเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งบริษัทบางสะพานทรานสปอร์ต จำกัด ก็เช่ารถเครนและรถขุดพิพาทแบบลิสซิ่งในอัตราค่าเช่าสูงถึงเกือบ 70 ล้านบาท ประกอบกับโดยสภาพของรถก็เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่นำไปใช้ในการประกอบกิจการก่อสร้างเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า จึงหาได้มีลักษณะเป็นการเช่ามาเพื่อใช้สอยตามปกติไม่ นอกจากนี้หนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากสัญญาซื้อขายและสัญญาซื้อกลับคืนพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อการค้า จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 3 และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยละเอียดแล้วซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก จำเลยที่ 1จึงไม่อาจหยิบยกข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมขึ้นกล่าวอ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดของตนได้และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อสัญญาตามหนังสือรับสภาพหนี้ว่าเป็นธรรมต่อจำเลยทั้งหกหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของคดีในประเด็นนี้เปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยทั้งหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกในประการต่อไปว่า จำเลยทั้งหกจะต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบัน แก่จำเลยที่ 6 โดยให้ถือว่านิติกรรมสัญญาต่าง ๆ และกิจการใด ๆ ที่จำเลยที่ 6ทำในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะแทนจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยอมให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทุกประการ ไม่ว่านิติกรรมสัญญาหรือกิจการใด ๆ ดังกล่าวจะได้กระทำลงก่อนหน้านี้ก็ตาม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย และจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือรับสภาพหนี้ ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อย่างลูกหนี้ร่วมเช่นกัน ส่วนที่จำเลยทั้งหกจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงใดนั้น จำเลยทั้งหกมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับการคิดคำนวณหนี้ของโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า คิดถึงวันที่ 25ธันวาคม 2549 จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้แก่โจทก์ 60,110,913.64 บาทตามตารางการชำระเงินท้ายหนังสือรับสภาพหนี้ แผ่นที่ 3 จริงคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยทั้งหกหรือไม่ จำเลยทั้งหกฎีกาว่า การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งหกในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ตามฟ้อง เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ การที่ศาลอุทธรณ์ยังคงให้จำเลยทั้งหกรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี โดยถือเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งขัดกับที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อกลับคืนพิพาทและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า สัญญาซื้อกลับคืนพิพาทข้อ 3 – 1 ระบุว่า หากจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ชำระเงินอย่างใด ๆที่มีหน้าที่ต้องชำระตามสัญญานี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะชำระค่าปรับให้แก่โจทก์ในอัตรา 19.5 ต่อปี เป็นเงินตราในประเทศ ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อรถเครนและรถขุดพิพาทกลับคืนในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี มิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินในอัตราเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี และที่สัญญาซื้อกลับคืนพิพาท ข้อ 2 – 2 ง II) และข้อ ฉ ระบุเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย ก็เป็นการท้าวความถึงเรื่องดอกเบี้ยในหนี้ค่าเช่าค้างชำระตามสัญญาเช่า และเป็นข้อตกลงให้เงินที่ได้จากการขายรถเครนและรถขุดพิพาทหรือเงินได้อย่างอื่น ๆ ที่เหลือจากการจัดสรรชำระหนี้ตามข้อ 2 – 2 ซึ่งโจทก์จัดเก็บไว้ในบัญชีไม่มีดอกเบี้ย หาใช่เป็นเรื่องโจทก์เรียกดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกันกับกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกลับคืนพิพาทดังที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างมาไม่ ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าปรับดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา อันถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะปรับลดลงตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 โจทก์ซึ่งแม้มิใช่เป็นสถาบันการเงินย่อมมีสิทธิกำหนดเบี้ยปรับในกรณีที่จำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ได้หาเป็นการขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะทั้งหมดดังที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างมาไม่ ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์คงกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ก็นับว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า โจทก์จะต้องคืนเงินและเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อกลับคืนพิพาทเป็นเงินรวม 60,110,913.64 บาท โจทก์จึงไม่จำต้องคืนเงินและเช็คพิพาททั้งสิบฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้หรือเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งหกไม่เป็นสาระที่จะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ.

Share