คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21640-21641/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 3 จะพาผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ กับผู้เสียหายที่ 3 อายุ 14 ปีเศษและผู้เสียหายที่ 5 อายุ 17 ปีเศษ จากประเทศไทยเพื่อไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซีย การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อช่วยทำเอกสารบัตรผ่านแดนและเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายทั้งสามผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจากประเทศไทยไปประเทศมาเลเซีย จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 3 กระทำความผิดหาใช่เป็นตัวการไม่ แต่ต้องระวางโทษเท่ากับตัวการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคห้า และตาม ป.อ. มาตรา 282 วรรคสี่
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 พาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จากประเทศไทยเพื่อไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซียนั้น ถือได้ว่ามีเจตนาเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณีเท่านั้น และมิใช่เป็นการรับตัวผู้เสียหายทั้งสามไว้โดยทุจริต จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้ก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อข่มขืนใจให้กระทำการค้าประเวณี ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ว่าเป็นการกระทำที่เป็นกรรมเดียวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะแม้เป็นการกระทำในคราวเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ จึงไม่อาจแก้ไขโทษได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 283, 310, 312 ตรี, 317, 318, 319 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9, 12
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพเฉพาะข้อหาเป็นธุระจัดหาหญิงอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีโดยใช้อุบายหลอกลวง ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง วรรคสาม, 12 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง, 283 วรรคสาม, 310 วรรคแรก, 312 ตรี วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 317 วรรคสาม, 319 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี ฐานร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 5 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นไม่ยินยอม (ที่ถูก แม้เด็กนั้นจะยินยอมก็ตาม) และเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณี เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 10 ปี ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาหญิงอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี โดยหญิงนั้นจะยินยอมก็ตามเพื่อ ให้หญิงนั้นกระทำการค้าประเวณี เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อข่มขืนใจให้กระทำการค้าประเวณี เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการาประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 47 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 35 ปี 3 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง วรรคสาม, 312 ตรี วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นไม่ยินยอม (ที่ถูก แม้เด็กนั้นจะยินยอมก็ตาม) เพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณี เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 10 ปี ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาหญิงอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เพื่อการอนาจารโดยหญิงนั้นจะยินยอมก็ตามเพื่อให้หญิงนั้นกระทำการค้าประเวณี เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาหญิงอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เพื่อการอนาจาร แม้หญิงนั้นจะยินยอมก็ตาม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 รวม 3 กระทง มีกำหนด 12 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 3 กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 31 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพียงว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ และสมควรลงโทษจำเลยที่ 3 เบากว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 3 จะพาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซีย และจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดขณะอายุยังน้อย ถูกยุยงส่งเสริมจากนายอาเหวินสามีจึงขาดความยั้งคิดไตร่ตรอง สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เบิกความสอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่า นอกจากจำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายทั้งสามไปถ่ายรูปและเป็นผู้ไปดำเนินการทำบัตรผ่านแดนที่อำเภอสะเดาให้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังพาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไปพักที่บ้านของจำเลยที่ 1 เพื่อรอรับเอกสารผ่านแดนประมาณครึ่งวัน เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นชาย ขณะเกิดเหตุมีอายุ 30 ปี และมีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างอยู่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองแนวชายแดนไทย – มาเลเซีย เป็นเวลานานประมาณ 8 ปี ย่อมมีประสบการณ์พอที่จะสังเกตได้ว่าผู้ที่ข้ามไปประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะหญิงสาวที่มีคนพาไปนั้นจะเข้าไปทำงานประเภทใด ดังคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จากการพูดคุยกับจำเลยที่ 3 ก็พอทราบว่าจำเลยที่ 3 จะพาเสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไปค้าประเวณี หรือจากการถามผู้เสียหายที่ 1 ว่ารู้หรือไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะถูกพาไปทำงานอะไร เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ตอบว่าไม่รู้และถามจำเลยที่ 1 กลับไปว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ จำเลยที่ 1 กลับไม่ตอบ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้ดีแล้วว่าจำเลยที่ 3 จะพาผู้เสียหายที่ 1 กับพวกไปทำงานค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซีย แต่ไม่อยากบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ทราบเท่านั้น ทั้งก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ก็เคยดำเนินการในลักษณะเช่นนั้นให้แก่นางสาวพาวิณีและนางสาวอาทิติยาได้ข้ามไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียมาแล้ว พฤติการณ์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนจึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 รู้แล้วว่าจำเลยที่ 3 จะพาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซีย การที่จำเลยที่ 1 ขับรถพาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจากประเทศไทยไปประเทศมาเลเซียและช่วยทำบัตรผ่านแดนให้ผู้เสียหายทั้งสามคงเป็นเพียงการเข้าช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 3 ในการพาผู้เสียหายทั้งสามเดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซียทั้งที่รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงการสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 มิใช่เป็นการร่วมกระทำความผิด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาบุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม เพื่อให้บุคคลนั้นค้าประเวณี และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาบุคคลอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม เพื่อให้บุคคลนั้นค้าประเวณี ที่จำเลยที่ 1 นำสืบและฎีกาปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 3 จะพาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไปค้าประเวณี เพียงขับรถจักรยานยนต์ไปส่งผู้เสียหายทั้งสามตามอาชีพของตนนั้น ไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ซึ่งความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าว พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 9 วรรคห้า และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 282 วรรคสี่ บัญญัติให้ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคนั้น ๆ แล้วแต่กรณี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยที่ 1 เท่ากับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการจึงถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ต่อไปว่า สมควรลงโทษจำเลยที่ 3 เบากว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดไว้หรือไม่ เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับความกระทบกระเทือนต่อจิตใจจากการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นอย่างมากจนเกิดความเครียดอย่างรุนแรงและพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง กรณีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดแก่จำเลยที่ 3 ก็เป็นโทษขั้นต่ำในแต่ละฐานความผิดตามกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจวางโทษให้ต่ำไปกว่านี้ได้อีก ฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคแรกและวรรคสอง ฐานรับบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี และเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามลำดับไว้โดยทุจริต อีกบทหนึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 พาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จากประเทศไทยไปประเทศมาเลเซียเพื่อทำการค้าประเวณีนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณี มิใช่เป็นการรับตัวผู้เสียหายทั้งสามไว้โดยทุจริต จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคแรกและวรรคสอง ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185, ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225 จึงสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อข่มขืนใจให้กระทำการค้าประเวณี ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่า แม้จะเป็นการกระทำในคราวเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นจึงไม่ถูกต้อง แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานนี้หลายกรรม ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขเรื่องโทษได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่ม เติมโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบ ด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อข่มขืนใจให้กระทำการค้าประเวณี รวม 2 กระทงและจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 282 วรรคสอง, มาตรา 282 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 282 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคห้า ประกอบมาตรา 9 วรรคสอง, มาตรา 9 วรรคห้า ประกอบมาตรา 9 วรรคสาม และประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี ให้ยก ส่วนโทษสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share