แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันเวลากระทำความผิดในสำนวนคดีแรกและในสำนวนคดีที่สองที่โจทก์บรรยายฟ้องทั้งในความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานรับของโจรนั้นต่างกัน โจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันหรือจะแยกฟ้องเป็นคนละคดีก็ได้ การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สองคนละคดีเป็นรายกระทงความผิดจึงกระทำได้ ประกอบกับวันที่จำเลยถูกจับกุมมิใช่วันกระทำความผิด และทรัพย์ที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนต่างรายการกัน มิใช่ทรัพย์ของผู้เสียหายคนเดียวกัน นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจก็ตรวจค้นพบทรัพย์ของกลางที่บ้านพวกของจำเลยและที่ห้องพักของจำเลยคนละวันกัน แสดงว่าทรัพย์ของกลางที่ถูกตรวจค้นพบทั้งสองครั้งจำเลยมิได้รับไว้ในคราวเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดวันเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานรับของโจรจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระคนละกระทงความผิดกัน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้นแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย และเรียกนายสมภพ ผู้เสียหายในสำนวนแรก และนายคม ผู้เสียหายในสำนวนที่สองว่า ผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องเป็นใจความขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 93 ,334, 335 (1) (3), 336 ทวิ, 357 เพิ่มโทษจำเลย กับให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีทั้งสองนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อดังกล่าว ให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 655,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 118,800 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อและในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ระหว่างพิจารณา นายสมภพ ผู้เสียหายที่ 1 ในสำนวนแรก ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาดังนี้ คดีสำนวนแรกพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 6 ปี จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 1243/2546 ของศาลชั้นต้น จำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซ้ำอีกภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่พ้นโทษ เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 3473/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ 3674/2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 1020/2550 คดีหมายเลขดำที่ 2373/2550 คดีหมายเลขดำที่ 2374/2550 และคดีหมายเลขดำที่ 2376/2550 นั้น ปรากฏว่าทั้งสี่คดีดังกล่าวจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ได้แยกฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2942/ 2550 คดีหมายเลขดำที่ 2455/2550 คดีหมายเลขดำที่ 2456/2550 และคดีหมายเลขดำที่ 2457/2550 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่นับโทษต่อให้ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ลำดับที่ 2 ถึง 4 ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายท้ายฟ้องเป็นจำนวน 655,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก สำนวนที่สองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (1) (3) วรรคสอง ประกอบมาตรา 366 ทวิ, 83 ลงโทษจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 118,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 กับให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3473/2550 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3674 /2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1020/2550 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 2456/2550 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2457/2550 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในคดีดังกล่าวศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยถึงจำคุกหรือไม่ จึงไม่มีโทษจำคุกที่จะนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น เห็นว่า เนื่องจากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่จำเลย โดยให้ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกในกรณีความผิดนั้น ๆ อีกต่อไป จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ และให้ยกฟ้องในข้อหารับของโจร
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ได้มีคนร้ายหลายคนร่วมกันทุบกระจกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 แล้วลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปหลายรายการ ต่อมาร้อยตำรวจเอกโอภาสกับพวกทำการจับกุมจำเลยและนายเอกชัยได้พร้อมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 บางรายการ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นศาลและโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่จะชี้หรือยืนยันว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำการลักทรัพย์ของเสียหายที่ 1 และที่ 2 นอกจากคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่าและต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมาย พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจะกระทำผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การที่ร้อยตำรวจเอกโอภาสกับพวกจับกุมจำเลยได้พร้อมทรัพย์ของกลางจำนวน 48 รายการ ที่บ้านของนายเอกชัย ซึ่งทรัพย์ของกลางดังกล่าวมีนาฬิกายี่ห้ออาร์บูตุสของผู้เสียหายที่ 1 รวมอยู่ด้วย แสดงว่า จำเลยต้องร่วมรู้เห็นในการที่ทรัพย์ของกลางดังกล่าวอยู่ที่บ้านของนายเอกชัย และน่าเชื่อว่าจำเลยรู้ว่านายเอกชัยได้นาฬิกาดังกล่าวมาโดยมิชอบ นอกจากนั้นการที่นายเอกชัยมีทรัพย์เป็นจำนวนมากทั้งที่ค้นพบที่บ้านของนายเอกชัยและที่นำไปฝากไว้ที่ห้องพักของจำเลย ซึ่งนับว่าผิดปกติที่บุคคลจะมีทรัพย์เป็นจำนวนมากและต้องนำมาฝากจำเลยให้ซุกซ่อน จึงเชื่อว่าจำเลยรู้ว่าทรัพย์ของกลางที่พบที่บ้านของนายเอกชัยและที่พบที่ห้องพักของจำเลยเป็นทรัพย์ที่นายเอกชัยได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยนำนาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์ เรือนทอง ของผู้เสียหายที่ 1 ไปขาย จึงเป็นการช่วยจำหน่ายทรัพย์ซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ อันเป็นความผิดฐานรับของโจร ส่วนการที่พบทรัพย์ของกลางอีกประมาณ 30 รายการ ที่ห้องพักของจำเลยซึ่งมีเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ของผู้เสียหายที่ 2 รวมอยู่ด้วย จึงเป็นการที่จำเลยช่วยซ่อนเร้น หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ อันเป็นความผิดฐานรับของโจรอีกกระทงหนึ่ง และจากการตรวจค้นพบทรัพย์ของกลางที่บ้านของนายเอกชัยจำนวน 48 รายการ และการตรวจค้นพบทรัพย์ของกลางที่ห้องพักของจำเลยอีกประมาณ 30 รายการ ร้อยตำรวจเอกโอภาสกับพวกทำการตรวจค้นพบคนละวันกัน แสดงว่าทรัพย์ของกลางที่ถูกตรวจค้นพบทั้งสองครั้งจำเลยมิได้รับไว้ในคราวเดียวกัน แต่รับไว้ต่างวันเวลากันและแยกสถานที่เก็บซุกซ่อน อีกทั้งเมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ในสำนวนแรกโจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2549 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง และในวันที่ 11 กรกฎาคม 2549 มีผู้พบเห็นนาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์ เรือนทอง ของผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความครอบครองของจำเลย และจำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 และเหตุรับของโจรเกิดระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ส่วนสำนวนคดีที่สองโจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2549 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 12 เมษายน 2549 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยถูกจับกุมวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง และเหตุรับของโจรเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2549 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 12 เมษายน 2549 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 จึงเห็นได้ว่า วันเวลากระทำความผิดในสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สองทั้งในความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรต่างกัน โจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันหรือจะแยกฟ้องเป็นคนละคดีก็ได้ การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สองคนละคดีเป็นรายกระทงความผิดจึงกระทำได้ ประกอบกับวันที่จำเลยถูกจับกุมมิใช่วันกระทำความผิด และทรัพย์ที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนต่างรายการกัน มิใช่ทรัพย์ของผู้เสียหายคนเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดวันเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานรับของโจรจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระคนละกระทงความผิดกัน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว โดยเรียงกระทงลงโทษทั้งสองสำนวนตามที่พิจารณาได้ความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ให้จำคุกสำนวนละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกสำนวนละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี ให้นับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนต่อกับโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 3473/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ 3674/2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 1020/2550 (ฟ้องใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2942/2550) คดีหมายเลขดำที่ 2374/2550 (ฟ้องใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2456/2550) ของศาลชั้นต้น นั้น เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คดีดังกล่าวศาลได้มีพิพากษาลงโทษจำเลยถึงจำคุก จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 2376/2550 (ฟ้องใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2457/2550) ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น เห็นว่า เนื่องจากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 1243/2546 ของศาลชั้นต้น และพ้นโทษไปแล้วเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2548 ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่จำเลย โดยให้ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกในกรณีความผิดนั้น ๆ อีกต่อไป จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ลำดับที่ 2 ถึง 4 ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายท้ายฟ้องเป็นจำนวน 655,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 118,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์