คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776-1777/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โดยไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยที่ 1จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ทุจริตต่อหน้าที่ที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ศาลแรงงานได้กำหนดให้คู่ความนำพยานเข้าสืบตามคำฟ้องและคำให้การ แม้ศาลแรงงานจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ และเสียหายเพียงใด แต่หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาคดีศาลแรงงานเห็นว่ากรณีที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นั้นไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมทั้งกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49
โจทก์ที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1อันเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยยังไม่สมควรลงโทษเลิกจ้าง แต่จำเลยที่ 1กลับลงโทษเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บันทึกบัตรลงเวลาทำงานโดยยังไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ที่ 1 ไม่บันทึกบัตรลงเวลาทำงานเป็นการประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลว่าจะได้รับประโยชน์ในค่าจ้างหรือเงินพิเศษต่าง ๆ และได้รับการพิจารณาความดีความชอบจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงให้ปรากฏในสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 จะได้รับค่าจ้างและเงินพิเศษต่าง ๆ อะไร จำนวนเท่าใดและจำเลยที่ 1 จะพิจารณาให้ความดีความชอบอะไรแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งศาลแรงงานก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ข้อนี้เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ระเบียบของจำเลยที่ 2 กำหนดว่า หากสมาชิกกองทุนพ้นจากสมาชิกด้วยเหตุผลถูกไล่ออกหรือถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเนื่องจากประพฤติผิดอย่างร้ายแรงขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ได้กระทำผิด ส่วนโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ แต่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีไม่ร้ายแรง ดังนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดี ให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 โจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และได้พิพากษาคดีรวมกัน

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 7,821 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 6,692 บาท จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,280 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 43,020 บาท จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 33,520 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน28,680 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 49,642.80 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 31,643.15 บาท

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยจดทะเบียนตามกฎหมายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 และวันที่ 18กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่ที่โรงงานผลิตน้ำอัดลมจังหวัดปทุมธานี ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์ที่ 1เดือนละ 8,380 บาท โจทก์ที่ 2 เดือนละ 7,170 บาท จำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 3 และ 18 ของเดือนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2541 โจทก์ที่ 1ที่ 2 มีกำหนดเวลาทำงานตั้งแต่ 15 นาฬิกา ถึง 23 นาฬิกา และได้เข้าทำงานตามปกติเวลา 15 นาฬิกา ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา โจทก์ที่ 1ขออนุญาตลาป่วยและออกจากโรงงานก่อนเวลาเลิกงานโดยไม่ได้บันทึกบัตรลงเวลาเลิกงาน เวลาประมาณ 23 นาฬิกา โจทก์ที่ 2 บันทึกบัตรลงเวลาเลิกงานของโจทก์ที่ 1 ส่วนบัตรลงเวลาของโจทก์ที่ 2 ไม่ได้บันทึกเวลาเลิกงานวันที่ 7 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ตามคำสั่งเอกสารหมาย ล.5 จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ล.4 โจทก์ที่ 2 ลงบันทึกบัตรลงเวลาทำงานให้โจทก์ที่ 1 เป็นการหยิบบัตรผิด ไม่มีเจตนาจะบันทึกบัตรลงเวลาทำงานแทนโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2จึงไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 และฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 ใช้ให้โจทก์ที่ 2 บันทึกบัตรลงเวลาเลิกงานแทนโจทก์ที่ 1แต่การที่โจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ย่อมรู้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ว่าต้องบันทึกบัตรลงเวลาทำงานขณะเข้าและออกจากโรงงานทุกครั้งเมื่อโจทก์ที่ 1 ออกจากโรงงานโดยมิได้บันทึกบัตรลงเวลาเลิกงานจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใดไม่ได้กระทำโดยมีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่และเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยมิใช่การฝ่าฝืนในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 ควรลงโทษด้วยการตักเตือนก่อนเมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่อาจรับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 กลับเข้าทำงาน จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 28,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2จำนวน 28,680 บาท โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ทำงานกับจำเลยที่ 1 ติดต่อกันครบ3 ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน สำหรับโจทก์ที่ 1จำนวน 50,280 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 43,020 บาท จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้กระทำผิด และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้จำนวน 28 วัน เป็นเงิน 6,692 บาท แก่โจทก์ที่ 2ส่วนโจทก์ที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีไม่ร้ายแรง จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 2โดยไม่ได้กระทำผิดและเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ซึ่งฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีไม่ร้ายแรง ทำให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของกองทุนจำเลยที่ 2 แต่มิใช่เนื่องจากการประพฤติอย่างร้ายแรงต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 6,692 บาท จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1จำนวน 50,280 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 43,020 บาท จ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1จำนวน 28,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 28,680 บาท ให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 49,642.80 บาทให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 31,643.15 บาท คำขออื่นของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ให้ยก

จำเลยทั้งสองทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ประการแรกว่าศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1ที่ 2 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเสียหายเพียงใด แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเห็นว่า การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่งและการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังนั้นเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะคดีนี้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โดยไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1ที่ 2 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ทุจริตต่อหน้าที่ที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ศาลแรงงานกลางได้กำหนดให้คู่ความนำพยานเข้าสืบตามคำฟ้องและคำให้การ หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาคดีศาลแรงงานกลางเห็นว่ากรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง และเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งกำหนดค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แก่ลูกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ดังนั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ และเสียหายเพียงใด แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องตั้งประเด็นไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โดยไม่ได้กระทำผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กับขอให้ใช้ค่าเสียหาย และศาลแรงงานกลางพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาคดีแล้วเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นั้นไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 แล้วก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ประการที่สองว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 รู้ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 ว่าต้องบันทึกบัตรลงเวลาทำงานขณะเข้าและออกจากโรงงานทุกครั้ง แต่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน2541 โจทก์ที่ 1 ออกจากโรงงานโดยมิได้บันทึกบัตรลงเวลาเลิกงาน เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีไม่ร้ายแรงจำเลยที่ 1 ย่อมมีเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1กลั่นแกล้งโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 49 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 นั้น เห็นว่าแม้โจทก์ที่ 1 จะฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 แต่เป็นความผิดเพียงเล็กน้อยยังไม่สมควรลงโทษเลิกจ้าง แต่จำเลยที่ 1 กลับลงโทษเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ประการที่สามว่า การที่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บันทึกบัตรลงเวลาเลิกงานเป็นการประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าจะได้รับประโยชน์ในเงินค่าจ้างหรือเงินพิเศษต่าง ๆ ตลอดจนได้รับประโยชน์ในการพิจารณาความดีความชอบจากจำเลยที่ 1 เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บันทึกบัตรลงเวลาทำงานโดยยังไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ที่ 1 ไม่บันทึกบัตรลงเวลาทำงานเป็นการประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลว่าจะได้รับประโยชน์ในค่าจ้างหรือเงินพิเศษต่าง ๆและได้รับการพิจารณาความดีความชอบจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงให้ปรากฏในสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 จะได้รับค่าจ้างและเงินพิเศษต่าง ๆ อะไร จำนวนเท่าใด และจำเลยที่ 1 จะพิจารณาให้ความดีความชอบอะไรแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งศาลแรงงานกลางก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เข้าข่ายระเบียบของจำเลยที่ 2 ที่ว่าสมาชิกของกองทุนพ้นสภาพด้วยเหตุถูกไล่ออกหรือเลิกจ้างเนื่องจากประพฤติผิดขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบคงมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสมในส่วนของตน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบตามฟ้องให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 นั้น เห็นว่า ระเบียบของจำเลยที่ 2 กำหนดว่าหากสมาชิกกองทุนพ้นจากสมาชิกด้วยเหตุผลถูกไล่ออกหรือถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเนื่องจากประพฤติผิดอย่างร้ายแรงขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้กระทำผิด ส่วนโจทก์ที่ 1ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ แต่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1ในกรณีไม่ร้ายแรงดังนี้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบตามฟ้องจากจำเลยที่ 2

พิพากษายืน

Share