คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84-85/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นหรือร่วมกระทำกับจำเลยที่ 2 ในการพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปยังสถานที่อื่น แม้จำเลยที่ 1 จะพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ที่บ้าน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 พรากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนมีใจความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2546 เวลากลางวันติดต่อกันตลอดมา จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากเด็กหญิง…..ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปี และเด็กหญิง….ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ไปเสียจากนาง…. ผู้เสียหายที่ 3 และ…. ผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งต่างก็เป็นมารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 แต่ละคนตามลำดับ โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำเลยที่ 1 ได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 โดยการกอดจูบลูบคลำบริเวณใบหน้าและร่างกายรวมทั้งถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 2 ออกจนหมดโดยผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แล้วจำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยที่ 1 โดยใช้อวัยวะเพศของจำเลยที่ 1 จ่อเพื่อที่จะสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 1 กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เนื่องจากผู้เสียหายที่ 2 ขัดขืนไม่ยินยอมและผลักจำเลยที่ 1 ออก จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยที่ 1 เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปี โดยการกอดจูบลูบคลำบริเวณใบหน้าและร่างกายรวมทั้งถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 1 ออกจนหมดโดยผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แล้วจำเลยที่ 2 ได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 277, 279, 317
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80, 279 วรรคแรก, 317 วรรคสาม (ที่ถูกประกอบมาตรา 83 ด้วย) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามกระทำชำเราและฐานกระทำอนาจารเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 7 ปี 8 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 บางส่วน ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 10 เดือน
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี และปรับ 8,000 บาท ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 ปี และปรับ 18,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ให้ลงโทษปรับ 8,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท ลดโทษให้แก่จำเลยทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และปรับ 9,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งมีกำหนดเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปี เป็นบุตรของผู้เสียหายที่ 3 ส่วนผู้เสียหายที่ 2 อายุ 13 ปีเศษ เป็นหลานอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 4 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายที่ 2 ให้ชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปเที่ยวด้วยกัน ต่อมาเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่ 2 แล้ว ไปรับผู้เสียหายที่ 1 จากนั้นพากันไปที่บ้านจำเลยที่ 1 และร่วมกันนั่งดูโทรทัศน์จนถึงเวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 ไปนอนอีกห้องหนึ่ง และได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จนสำเร็จความใคร่ ส่วนจำเลยที่ 1 พยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 สำหรับความผิดฐานพยายามกระทำชำเราและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีนั้น หลังจากลดโทษแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีคนละ 1 ปี 4 เดือน แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ลดโทษแล้วให้จำคุก 2 ปี และให้ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้อันเป็นการแก้ไขมาก แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ยังลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษในความผิดฐานดังกล่าวเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ โดยโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้อันเป็นการพิพากษากลับในส่วนของจำเลยที่ 1 และแก้ไขมากในส่วนของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารหรือไม่ เมื่อได้ความจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนชวนผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปเที่ยวและพาไปส่งที่บ้านจำเลยที่ 1 แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 คงพบบิดาและน้องชายจำเลยที่ 1 โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะทราบว่าจำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาที่บ้านของจำเลยที่ 1 ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นหรือร่วมกระทำกับจำเลยที่ 2 ในการพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปยังสถานทื่อื่น แม้จำเลยที่ 1 จะพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ที่บ้าน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 พรากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share