คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำสัญญารับจ้างเหมางานก่อสร้างสถานีบริการและติดตั้งอุปกรณ์ตามฟ้องจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 3 ทำหนังสือค้ำประกันความเสียหายให้แก่โจทก์ ต่อมามีเหตุชำรุดเสียหายแก่งานที่ก่อสร้างหลายรายการ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาจ้างดังกล่าว ข้อ 6 ซึ่งระบุว่าถ้ามีความชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานที่ก่อสร้าง โจทก์มีอำนาจจ้างผู้อื่นแก้ไขซ่อมแซมงานได้ โดยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างต้องมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างให้แก้ไขซ่อมแซมภายในเวลาที่กำหนดก่อนแล้วจำเลยที่ 1 ไม่แก้ไขซ่อมแซม เมื่อหนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงหนังสือแจ้งเกี่ยวกับการเก็บงานที่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้เรียบร้อยโดยเท้าความถึงเอกสารอื่น แม้จะระบุว่ามีความเสียหายเพิ่มเติมเกิดขึ้นอีกแต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นความเสียหายส่วนไหนของงานก่อสร้างและหนังสือดังกล่าวแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์จะให้บริษัท ป. เข้าดำเนินการตรวจสอบ ซ่อมแซม รวมทั้งเก็บรายละเอียดงานก่อสร้างที่ยังบกพร่องอยู่ให้เรียบร้อยแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้นอีกทั้งโจทก์จะให้บริษัท ป. ดำเนินการซ่อมแซมแทนจำเลยที่ 1 ในงานก่อสร้างที่ตรวจพบความชำรุดบกพร่องทันทีและในส่วนที่อาจเกิดขึ้นอีกในภายหลัง โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายอันเป็นกรณีตามสัญญาข้ออื่น โจทก์ไม่อาจนำเงื่อนไขในสัญญาจ้าง ข้อ 6 มาใช้กับข้อสัญญาข้ออื่นได้ หนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้ออื่น ไม่ใช่หนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขซ่อมแซมความชำรุดเสียหายงานก่อสร้างภายในเวลาที่กำหนดตามเงื่อนไขในสัญญาจ้าง ข้อ 6 เท่ากับว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ฎีกา แต่หนี้อันเกิดจากการค้ำประกันเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เป็นการจ้างเหมาโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาสิ่งของสัมภาระและช่างแรงงานตกลงราคาจ้างเหมาทั้งสิ้น 11,382,990 บาท กำหนดเวลาแล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันทำสัญญา หากไม่เสร็จภายในกำหนดจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับวันละ 20,000 บาท จนกว่าจะแล้วเสร็จ และเมื่อครบ 15 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญา หากจำเลยที่ 1 ยังก่อสร้างพร้อมทั้งติดอุปกรณ์ไม่แล้วเสร็จโจทก์สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 6 ภายใน 12 เดือนนับแต่วันที่โจทก์ได้รับมอบงานตามสัญญา ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้าง โดยเหตุที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระไม่ดี จำเลยที่ 1 ต้องแก้ไขใหม่ทันที โดยจำเลยที่ 1ต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายเอง หากจำเลยที่ 1 ไม่จัดการแก้ไขหรือซ่อมแซมให้เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาที่โจทก์แจ้งเป็นหนังสือไป โจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นซ่อมแซมโดยจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนดังกล่าวนี้ ซึ่งในการนี้จำเลยที่ 3 ตกลงทำหนังสือค้ำประกันความเสียหายให้แก่โจทก์ โดยผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขชนิดเพิกถอนไม่ได้หลังจากโจทก์รับมอบงานงวดสุดท้ายและชำระค่าว่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 แล้วงานก่อสร้างเกิดความชำรุดบกพร่องหลายประการ โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 หลายครั้งให้แก้ไขแต่จำเลยที่ 1 ไม่แก้ไขซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ทำให้โจทก์เสียหายโจทก์จึงว่าจ้างบริษัทปรีติมุตก่อสร้าง จำกัด เข้าซ่อมแซมแทนจำเลยที่ 1 เสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 1,352,100 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน1,352,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงิน 1,138,299 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่ต้องรับผิดตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 1,352,100 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 ธันวาคม2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงิน 1,138,299บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 ธันวาคม2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำสัญญารับจ้างเหมางานก่อสร้างสถานีบริการและติดตั้งอุปกรณ์ตามฟ้องจากโจทก์ ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.6 โจทก์รับมอบงานก่อสร้างงวดสุดท้ายจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538 โดยจำเลยที่ 3 ทำหนังสือค้ำประกันความเสียหายให้แก่โจทก์ในวงเงิน 1,138,299 บาทโดยมีเงื่อนไขชนิดเพิกถอนไม่ได้ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.9 ต่อมามีเหตุชำรุดเสียหายแก่งานที่ก่อสร้างหลายรายการ ในที่สุดโจทก์ว่าจ้างบริษัทปรีติมุตก่อสร้างจำกัด ซ่อมแซมงานที่ชำรุดบกพร่อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 6 ซึ่งระบุว่า”ภายในกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานนี้จากผู้รับจ้างเป็นต้นไป ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายแก่งานจ้างนี้โดยผู้รับจ้างทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระที่ไม่ดี ผู้รับจ้างจะทำการแก้ไขใหม่ทันทีโดยไม่คิดราคาสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานจากผู้ว่าจ้างอีก ถ้าผู้รับจ้างบิดพริ้วไม่จัดการแก้ไขหรือซ่อมให้เป็นที่เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำแทนต่อไป โดยผู้รับจ้างยินยอมจ่ายเงินค่าจ้างในการแก้ไขเท่าที่สร้างจริงโดยสิ้นเชิง” จากข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่าภายใน 12 เดือน นับแต่วันรับมอบงานที่ก่อสร้าง ถ้ามีความชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานที่ก่อสร้าง โจทก์มีอำนาจจ้างผู้อื่นแก้ไขซ่อมแซมงานได้โดยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างต้องมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างให้แก้ไขซ่อมแซมภายในเวลาที่กำหนดก่อนแล้วจำเลยที่ 1 ไม่แก้ไขซ่อมแซม ในปัญหานี้นายมาโนช แสงแก้ววิศวกรผู้ควบคุมงานเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์เบิกความว่าหลังจากรับมอบงานจากจำเลยที่ 1 ปรากฏว่างานที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่องหลายประการ โจทก์แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 แก้ไขซ่อมแซมตามหนังสือเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.14 และยังทำหนังสือสรุปความเสียหายเป็นครั้งที่สอง ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.15 แต่ตามเอกสารหมาย จ.10 ปรากฏว่าเป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการเก็บงานที่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้เรียบร้อยโดยเท้าความถึงเอกสารหมาย ล.5 แม้ในหนังสือดังกล่าวจะระบุว่ามีความเสียหายเพิ่มเติมเกิดขึ้นอีก แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นความเสียหายส่วนไหนของงานก่อสร้างและหนังสือดังกล่าวแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์จะให้บริษัทปรีติมุตก่อสร้าง จำกัดเข้าดำเนินการตรวจสอบ ซ่อมแซม รวมทั้งเก็บรายละเอียดงานก่อสร้างที่ยังบกพร่องอยู่ให้เรียบร้อยแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น ตามเอกสารหมาย จ.11 เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ขอยกเลิกการซ่อมโดยโจทก์จะให้บริษัทปรีติมุตก่อสร้าง จำกัด ดำเนินการซ่อมแซมแทนจำเลยที่ 1 ในงานก่อสร้างที่ตรวจพบความชำรุดบกพร่องทันทีและในส่วนที่อาจเกิดขึ้นอีกในภายหลังโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ตามเอกสารหมาย จ.12 เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่างานเสริมกำแพงอีก 30 เซนติเมตร เพื่อให้ได้ความสูงตามแบบ จำเลยที่ 1 ยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์จะให้บริษัทปรีติมุตก่อสร้าง จำกัด ดำเนินการโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เป็นการนำสืบกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ 1 และข้อ 2 ไม่ใช่ข้อ 6 ซึ่งโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์ไม่อาจนำเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ 6 มาใช้กับข้อ 1 และข้อ 2 ได้ ตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่ามีงานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการไม่ถูกต้องตามแบบอีก 2 รายการ คือ กำแพงรอบสถานีบริการกับท่อลมที่จำเลยที่ 1 ต้องก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 1 ท่อ ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ 1และข้อ 2 เช่นเดียวกับเอกสารหมาย จ.12 ตามเอกสารหมาย จ.14 เป็นหนังสือโต้ตอบของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์เคยมีหนังสือลงวันที่ 15 มกราคม 2539 ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ให้บริษัทปรีติมุตก่อสร้าง จำกัด เข้าซ่อมแซม พร้อมทั้งแจ้งนัดให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจะมีการประชุมที่บริษัทโจทก์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 เวลา 8.30 นาฬิกา ขอให้จำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมด้วย และตามเอกสารหมาย จ.15 เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงรายละเอียดงานก่อสร้างซ่อมแซมรวม 19 รายการ และขอให้จำเลยที่ 1 ส่งผู้ควบคุมงานเพื่อตรวจสอบงานก่อสร้างบางอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ในขณะที่โจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ.15 เป็นระยะเวลาภายหลังที่โจทก์ตัดสินใจให้บริษัทปรีติมุต จำกัด เข้าซ่อมแซมงานก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 แล้ว ส่วนเอกสารหมาย จ.33 และ จ.34 ก็เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 เก็บงานให้เรียบร้อยซึ่งหมายความว่า งานก่อสร้างที่ก่อสร้างมายังไม่เรียบร้อยก่อนที่จะรับมอบงานและชำระค่าจ้างงวดสุดท้าย ดังนี้เห็นว่า เอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.15 จ.33 และ จ.34 ไม่ใช่หนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขซ่อมแซมความชำรุดเสียหายงานก่อสร้างภายในเวลาที่กำหนดตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 6 เท่ากับว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้แก้ไขซ่อมแซมงานก่อสร้างที่ชำรุดเสียหายจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาแม้นายราชัย ปิยวาจานุสรณ์ วิศวกรลูกจ้างโจทก์จะเบิกความว่า โจทก์เคยมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ให้ซ่อมแซมปั๊มน้ำมันแรงตามเอกสารหมาย จ.29 และจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการซ่อมแซม แต่ตามรายการซ่อมแซม 41 รายการในใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.21 ที่บริษัทปรีติมุตก่อสร้าง จำกัดซ่อมแซมงานก่อสร้างให้โจทก์กลับไม่มีรายการซ่อมแซมปั๊มน้ำแรง แสดงว่าจำเลยที่ 1ได้ดำเนินการซ่อมแซมให้โจทก์แล้วส่วนเอกสารหมาย จ.41 ที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1ซ่อมไฟฟ้าในห้องขายโดยด่วนก็ไม่มีอยู่ในรายการซ่อมแซม 41 รายการในใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.21 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ซ่อมแซมให้โจทก์แล้วเช่นกัน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ฎีกาแต่หนี้อันเกิดจากการค้ำประกันเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น”

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share