แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนและถึงที่สุดแล้ว มิใช่เพียงแต่พิพากษาระบุว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ซึ่งคำฟ้องระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส.3 จำนวนเนื้อที่ 1 งาน 80 ตารางวา ของเนื้อที่ทั้งหมด 3 งาน 96 ตารางวา เท่านั้น หากแต่ยังมีข้อความต่อไปด้วยว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินตาม น.ส.3 ให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว และห้ามมิให้จำเลยที่ 2 และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไปด้วย ซึ่งผลแห่งการที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดิน น.ส.3 ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดิน น.ส.3 ทั้งแปลง และศาลก็ได้พิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 2 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย คำพิพากษาจึงมีความชัดเจนแล้วว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 ทั้งแปลง มิใช่ว่าจำเลยที่ 2 ยังคงมีสิทธิครอบครองแปลงดังกล่าวนอกเหนือไปจากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนเนื้อที่ 1 งาน 80 ตารางวา ที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีขับไล่จำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดิน น.ส.3 ทั้งแปลง จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่าคำฟ้องโจทก์ตั้งประเด็นเพียงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดิน 1 งาน 80 ตารางวา ของเนื้อที่ดินทั้งหมด 3 งาน 96 ตารางวา และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ขอให้ศาลพิพากษาเพียงว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 จำนวน 1 งาน 80 ตารางวา ของเนื้อที่ดินทั้งหมด ทั้งคำพิพากษาของศาลอยู่ในบังคับต้องตัดสินไปตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้ออันเป็นการอุทธรณ์ในทำนองว่าคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาบังคับจำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดิน น.ส.3 ดังกล่าวทั้งแปลงเป็นการพิพากษานอกฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านเข้ามาในคดีเดิม เมื่อคดีเดิมศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคำพิพากษานั้นถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยที่ 2 จะกลับมาอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลฎีกาอีกว่า คำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วนั้นไม่ชอบเพราะเป็นการพิพากษานอกฟ้องอีกไม่ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า โจทก์และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
คดีนี้สืบเนื่องมาจากคดีทั้งสองสำนวนนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 303 ตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว และห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ ส่วนคำฟ้องของจำเลยที่ 2 ให้ยกเสีย
ในชั้นบังคับคดี จำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 ว่า เนื่องจากคดีทั้งสองสำนวนมีประเด็นตามฟ้องโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 303 เนื้อที่ 1 งาน 80 ตารางวา ของเนื้อที่ทั้งหมด จำนวน 3 งาน 96 ตารางวา และโจทก์ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัวโจทก์เอง ไม่ได้ฟ้องในฐานะผู้แทนของทายาท และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 303 ตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวนเนื้อที่ 1 งาน 80 ตารางวา และโจทก์ยังขอให้จำเลยนำที่ดินมาโอนคืนให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ครอบครองคือ 1 งาน 80 ตารางวาเท่านั้น ไม่ได้ฟ้องและขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดิน น.ส.3 ดังกล่าวทั้งแปลงเป็นของโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาท โดยมิได้ระบุจำนวนเนื้อที่ไว้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด เป็นเหตุให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาบังคับขับไล่จำเลยที่ 2 ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินที่จำเลยที่ 2 ครอบครองอยู่ ซึ่งก่อนศาลมีคำพิพากษานั้นจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองที่ดิน น.ส.3 ดังกล่าวนอกเหนือจากที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ แต่หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ได้อาศัยคำพิพากษาซึงไม่ชัดเจนว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองจำนวนเท่าใดของเนื้อที่ทั้งหมดมาบังคับให้จำเลยที่ 2 ออกไป ทั้งๆ ที่ที่ดินส่วนที่เหลือจาก 1 งาน 80 ตารางวา นั้น ยังเป็นของจำเลยที่ 2 อยู่ และจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินจำนวนดังกล่าวจึงไม่อยู่ในการบังคับคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกโจทก์มาสอบถามเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และต่อมาจำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 ว่าโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินเนื้อที่ 1 งาน 80 ตารางวา ที่โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำบังคับและหมายบังคับคดีที่บังคับให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัตินอกเหนือจากที่โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ตามคำพิพากษา และมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ก่อน และขอให้ศาลมีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ดขอให้ระงับการออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่แทนฉบับพิพาทจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำแถลงและคำร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 303 ตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 1 งาน 80 ตารางวา ซึ่งแม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิครอบครองที่ดินตามจำนวนดังกล่าว แต่ศาลก็ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 303 ดังกล่าว และให้จำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวกับห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าว คำพิพากษาของศาลจึงชัดเจนแล้วว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป จึงให้ยกคำแถลงฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 ของจำเลยที่ 2 และวินิจฉัยด้วยว่าคำบังคับและหมายบังคับคดีของศาลออกไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วให้ยกคำร้องฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 ของจำเลยที่ 2 ด้วย ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เพียงว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 303 ตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ดทั้งแปลง เป็นการบังคับคดีเกินไปกว่าคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามและถึงที่สุดแล้วนั้น มิใช่เพียงแต่พิพากษาระบุว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ซึ่งคำฟ้องระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส.3 ดังกล่าวจำนวนเนื้อที่ 1 งาน 80 ตารางวา ของเนื้อที่ทั้งหมด 3 งาน 96 ตารางวา เท่านั้น หากแต่ยังมีข้อความแห่งคำพิพากษาในตอนต่อไปด้วยว่า “…ให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 303 ตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว และห้ามมิให้จำเลยที่ 2 และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป…” ด้วย ซึ่งผลแห่งการที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 303 ดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 303 ดังกล่าวทั้งแปลง และศาลก็ได้พิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 2 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย คำพิพากษาจึงมีความชัดเจนแล้วว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 303 ดังกล่าวทั้งแปลง หาใช่ว่าจำเลยที่ 2 ยังคงมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวนอกเหนือไปจากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนเนื้อที่ 1 งาน 80 ตารางวา ที่โจทก์มีสิทธิครอบครองดังที่จำเลยที่ 2 พยายามกล่าวอ้างในอุทธรณ์ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีขับไล่จำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 303 ตำบลสีแก้วทั้งแปลง จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว หาเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาของศาลไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า คดีนี้คำฟ้องโจทก์ตั้งประเด็นเพียงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดิน 1 งาน 80 ตารางวา ของเนื้อที่ดินทั้งหมด 3 งาน 96 ตารางวา และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ขอให้ศาลพิพากษาเพียงว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 303 ตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 1 งาน 80 ตารางวา ของเนื้อที่ดินทั้งหมด และคำพิพากษาของศาลอยู่ในบังคับต้องตัดสินไปตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้ออันเป็นการอุทธรณ์ในทำนองว่าคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาบังคับจำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 303 ดังกล่าวทั้งแปลงเป็นการพิพากษานอกฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านเข้ามาในคดีเดิม เมื่อคดีเดิมศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคำพิพากษานั้นถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยที่ 2 จะกลับมาอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลฎีกาอีกว่าคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วนั้นไม่ชอบเพราะเป็นการพิพากษานอกฟ้องอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำแถลงและยกคำร้องของจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ