แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 ที่บัญญัติถึงการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยนั้นหมายถึงว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ปฏิบัติการชำระหนี้นั้นไม่ได้
จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ เวลาเจ้าพนักงานไปรังวัด มีผู้ร้องคัดค้านว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเขาจำเลยจึงขอต่อเจ้าพนักงานให้งดรังวัดไว้ก่อน เพื่อทำความตกลงกับผู้ร้องดังนี้ ยังไม่เรียกว่าจะทำให้การรังวัดและโอนขายให้โจทก์ไม่ได้
ข้อความในรายงานพิจารณานั้น ศาลจดไว้ตามสมควรแก่รูปคดีศาลไม่มีหน้าที่จดทุกอย่างที่คู่ความประสงค์ให้จด ศาลจะจดให้เฉพาะแต่ที่เป็นสาระแห่งคดีเท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความพอจะวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลย่อมไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงอื่นอันไม่สำคัญแก่รูปคดี และสั่งงดสืบพยานเสียได้
โจทก์เคยฟ้องจำเลยโดยอ้างสัญญาเดิมและอ้างว่าสัญญาใหม่ที่นำมาฟ้องในคดีนี้ใช้ไม่ได้ ต่อเมื่อศาลยกฟ้องแล้ว จึงหวนกลับเอาสัญญาใหม่มาฟ้องอีกดังนี้ ย่อมฟ้องได้เพราะเป็นคนละประเด็น ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์และได้รับมัดจำไปแล้ว 500 บาท จำเลยที่ 2 ยินยอมด้วยโดยตกลงกันว่าที่ดินทางทิศเหนือซึ่งติดต่อกับที่ดินของนายเลี่ยงสือเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2479 พระยาพิทักษ์สามีโจทก์ได้ทำสัญญา ในฐานตัวแทนโจทก์กับจำเลยที่ 1 แปลงหนี้ใหม่คือ ตกลงเฉพาะเนื้อที่กว้าง 10 ศอกยาวตามเนื้อที่ดินด้านที่ติดต่อกับนายเลี่ยงสือ และยอมให้โจทก์ขุดคูเอาดินถมคูเก่าจนเต็มเป็นพื้นเดียวกับที่ ๆ ถามไว้แล้ว ทั้งยอมให้โจทก์ฝังท่อในคูใหม่ของจำเลยที่ 1 ไปใช้น้ำในที่ของโจทก์ วันที่ 13 มีนาคม 2489จำเลยทั้ง 2 ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานขอแบ่งโฉนด และจำเลยที่ 1 ขอแบ่งแยกเพื่อขายให้โจทก์เวลาเจ้าพนักงานรังวัด นายเลี่ยงสือคัดค้านว่าจำเลยนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของตน จำเลยจึงขอให้งดการรังวัดไว้ก่อนเพื่อทำความตกลงภายใน แต่แล้วจำเลยทั้ง 2 มิได้จัดการอย่างใด จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยแบ่งแยกโฉนดและโอนขายให้โจทก์ และให้จำเลยยอมให้โจทก์ขุดคูในที่ดินของจำเลย และเอาดินถมคูเก่าและฝังท่อในคูใหม่ของจำเลยไปใช้น้ำในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า การที่เจ้าพนักงานหยุดไม่ยอมรังวัด ซึ่งไม่ใช่ความผิดของจำเลย อันเป็นเหตุให้การชำระหนี้พ้นวิสัย จำเลยเป็นอันหยุดพ้นจากการชำระหนี้ตามมาตรา 219 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พระยาพิทักษ์สามีโจทก์รับไปเจรจาทำความตกลงปรองดองกันกับนายเลี่ยงสือ เมื่อเจรจาไม่ตกลงจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชอบ โจทก์เคยฟ้องขอให้บังคับจำเลยขายที่ดินของจำเลยให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามสัญญาลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2489 ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงกลับมาฟ้องตามสัญญาใหม่ย่อมไม่ได้ จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า โจทก์ฟ้องไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง 2 จัดการดำเนินเรื่องกันนายเลี่ยงสือให้เสร็จภายใน 15 วันและให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนขายให้แก่โจทก์ตามสัญญาลงวันที่ 13 มีนาคม 2489 หากจำเลยทั้ง 2 ไม่ดำเนินเรื่องกับนายเลี่ยงสือในกำหนดก็ให้จัดการแบ่งส่วนของจำเลยระหว่างกันเองเท่าที่ไม่มีวิวาทแล้วให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ ให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ทางด้านเหนือตามที่ตกลงตามสัญญาลงวันที่ 13 มีนาคม 2489 ยกฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 ที่ว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น หมายถึงว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นซึ่งทำให้ปฏิบัติการชำระหนี้นั้นไม่ได้ คดีนี้เพียงแต่นายเลี่ยงสือร้องคัดค้านไม่ยอมตกลง ไม่ใช่ว่าจะทำให้การรังวัดและโอนขายให้โจทก์ไม่ได้ จำเลยมีทางที่จะดำเนินต่อไป และตามสัญญาจำเลยก็มีหน้าที่จะต้องจัดการโอนที่ให้โจทก์ การที่สามีโจทก์รับไปเจรจากับนายเลี่ยงสือ แล้วไม่ตกลงกันได้นั้น จะถือเอาเป็นความผิดฝ่ายโจทก์และจะทำให้จำเลยหมดหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ศาลชั้นต้นจดรายงานพิจารณาลงวันที่ 25 ตุลาคม 2489สั้นไป ไม่ได้ความหมดจนจำเลยต้องทำคำแถลงเสนอไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในรายงานพิจารณานั้น ศาลจดไว้ตามสมควรแก่รูปคดีแล้ว ศาลไม่มีหน้าที่จะต้องจดทุกอย่างที่จำเลยประสงค์จะให้จด ศาลจะจดให้แก่เฉพาะที่เป็นสาระแห่งคดีเท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างที่จำเลยทำการแถลงเสนอไว้ ก็ไม่ทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลงไป ข้อที่ศาลสั่งงดสืบพยานเสียนั้น เพราะข้อเท็จจริงได้ความพอจะวินิจฉัยคดีศาลก็ย่อมไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงอื่น อันไม่สำคัญแก่รูปคดีข้อที่ว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยตามสัญญาเดิมและอ้างว่าสัญญาใหม่ที่นำมาฟ้องคดีนี้ใช้ไม่ได้ศาลยกฟ้องแล้ว จึงหวนกลับเอาสัญญาใหม่มาฟ้องนั้น ย่อมทำได้ เพราะประเด็นในคดีไม่ใช่ประเด็นเดียวกับคดีก่อน ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
พิพากษายืน