คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8242-8246/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ… และคำว่า “ค่าล่วงเวลา” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน แม้ค่าล่วงเวลาจะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายดังกล่าว เพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน แต่ก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนการทำงานนอกเวลาปกติ ซึ่งนายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสินจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ค่าล่วงเวลาจึงเป็นสินจ้างอย่างหนึ่งตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ซึ่งมีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่า แม้คำให้การของจำเลยจะอ้างอายุความตามมา แต่จำเลยจะต้องสืบพยานประกอบคำให้การดังกล่าวด้วยตาม ป.วิ.พ. นั้น เห็นว่า การพิจารณาคดีแรงงานต้องบังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งการดำเนินคดีแรงงานแตกต่างจากการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป โดยการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบไต่สวน ซึ่งให้อำนาจศาลในการค้นหาความจริงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร ไม่มีบทบัญญัติให้ต้องสืบประกอบดังกล่าว ทั้งตามคำฟ้องและคำให้การปรากฏข้อเท็จจริงได้ความแจ้งชัดพอวินิจฉัยได้แล้ว มิได้นำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาวินิจฉัยแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 1 “งานขนส่งทางบก” หมายความว่า การลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของด้วยยานพาหนะขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคคลหรือสัตว์ที่เจ็บป่วย และการขนส่งในงานดับเพลิงหรืองานบรรเทาสาธารณภัย โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถให้ผู้บริหารของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งห้า ไม่ใช่การขับรถส่งหรือลำเลียงบุคคลทั่วไป ลักษณะงานของโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ใช่งานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวงดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งห้าสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งห้าสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งห้าฟ้องทำนองเดียวกันว่า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเงินคนละ 64,876 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 32,328 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 136,656 บาท และจ่ายโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนละ 14,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์ที่ 5 นับแต่วันถึงกำหนดในการจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างชำระทุกระยะ 7 วัน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 23,436.32 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 14,853.92 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 10,526.56 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 12,859.10 บาท และโจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 20,742.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบกิจการผลิตรถจักรยานยนต์ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับกิจการขนส่ง โจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2546 โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2543 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2546 โจทก์ที่ 3 เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2543 ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2546 โจทก์ที่ 4 เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2545 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และโจทก์ที่ 5 เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ในตำแหน่งพนักงานขับรถ มีหน้าที่รับส่งผู้บริหารจากที่พักไปที่ทำงาน จากที่ทำงานกลับที่พัก รวมทั้งขับไปส่งที่อื่นตามคำสั่งของผู้บริหารได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 7,000 บาท มีช่วงเวลาทำงานปกติเริ่มตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา จนถึง 17 นาฬิกา ของทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ในส่วนของการทำงานล่วงเวลานั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยโจทก์ทั้งห้าได้ทำงานล่วงเวลาตามระยะเวลาที่บันทึกไว้ ขณะที่จำเลยรับโจทก์ทั้งห้าเข้าเป็นลูกจ้าง มีข้อตกลงกันว่าจำเลยจะจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นการเหมาจ่ายรายเดือนให้แก่โจทก์ทั้งห้าในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ในระหว่างโจทก์ทั้งห้าทำงานให้แก่จำเลยนั้น โจทก์ทั้งห้าได้รับเงินค่าจ้างในอัตราเดือนละ 7,000 บาท และได้รับเงินค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายตามที่ได้ตกลงกันไว้เดือนละ 3,000 บาท ทุกเดือนครบถ้วนแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า ค่าล่วงเวลาบางส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องจำเลยเรียกค่าล่วงเวลาตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ… และคำว่า “ค่าล่วงเวลา” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน แม้ค่าล่วงเวลาจะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายดังกล่าวเพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน แต่ก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนการทำงานนอกเวลาปกติ ซึ่งนายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานถือว่าเป็นสินจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ค่าล่วงเวลาจึงเป็นสินจ้างอย่างอื่นตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ซึ่งมีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ว่า แม้คำให้การของจำเลยจะอ้างอายุความมา แต่จำเลยจะต้องสืบพยานประกอบคำให้การดังกล่าวด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า การพิจารณาคดีแรงงานต้องบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งมีการดำเนินคดีแรงงานแตกต่างจากการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป โดยการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบไต่สวน ซึ่งให้อำนาจศาลในการค้นหาความจริง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร ไม่มีบทบัญญัติให้ต้องสืบประกอบดังกล่าว ทั้งตามคำฟ้องและคำให้การปรากฏข้อเท็จจริงได้ความแจ้งชัดพอวินิจฉัยได้แล้ว มิได้นำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาวินิจฉัยแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานหรือไม่ เห็นว่า ตามคำนิยามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 1 ว่า “งานขนส่งทางบก” หมายความว่า การลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของด้วยยานพาหนะขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคคลหรือสัตว์ที่เจ็บป่วย และการขนส่งในงานดับเพลิงหรืองานบรรเทาสาธารณภัย โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถให้ผู้บริหารของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งห้า ไม่ใช่การขับรถส่งหรือลำเลียงบุคคลทั่วไป ลักษณะงานของโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ใช่งานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวงดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share