คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070-1071/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มีเงินสดและเงินฝากธนาคาร 12,585.10 บาท ทั้งยังมีสินทรัพย์เป็นสินค้าคงเหลือจำนวน 38,124,414.13 บาท จำเลยที่ 1 ยังมีเครดิตขอกู้ยืมเงินได้อีกและมีทรัพย์จำนองในคดีนี้เป็นหลักประกันจึงไม่พอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สิน การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่อ้างว่าสินทรัพย์ที่เป็นสินค้าคงเหลือ เป็นมูลค่าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ติดจำนองไว้กับโจทก์ ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคคลภายนอกจึงไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินมาวางศาลเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ได้ และทรัพย์จำนองมีมูลค่าต่ำกว่าหนี้เงินกู้ จำเลยที่ 1 พยายามติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอยู่ เป็นการคัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยโดยคำสั่งหลังเสร็จการไต่สวนแล้ว หากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะคัดค้านโดยการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น มิใช่โดยการยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของตนได้ คือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระเสียภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดกรณีหนึ่ง หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา156 วรรคสี่ อีกกรณีหนึ่ง แม้กฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะในการยื่นคำร้องขอไว้ แต่เมื่อการใช้สิทธิดำเนินการในกรณีแรกคือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต้องนำมาชำระภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 การใช้สิทธิดำเนินการในกรณีหลัง ก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการใช้สิทธิเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เหมือนกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 31,802,074.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 19,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1 และ 2 อุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตถึงวันที่ 6 มกราคม 2547
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง และยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ส่วนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง (ที่ถูกต้องทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง)
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาวางต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง และเมื่อได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอดำเนินคดีอย่างอนาถาแล้ว อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมจึงไม่จำต้องพิจารณาอีก
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฎีกาคำสั่ง (ที่ถูกต้องทำเป็นฎีกาคำสั่ง)
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่ามีเหตุสมควรไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าเป็นคนยากจนหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่เลิกกิจการ จำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มีเงินสดและเงินฝากธนาคาร 12,585.10 บาท ทั้งยังมีสินทรัพย์เป็นสินค้าคงเหลือจำนวน 38,124,414.13 บาท จำเลยที่ 1 ยังมีเครดิตขอกู้ยืมเงินได้อีกและมีทรัพย์จำนองในคดีนี้เป็นหลักประกัน จึงไม่พอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่อ้างว่าสินทรัพย์ที่เป็นสินค้าคงเหลือจำนวน 38,124,414.13 บาท นั้น เป็นมูลค่าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ติดจำนองไว้แก่โจทก์ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคคลภายนอกจึงไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินมาวางศาลเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ได้ และทรัพย์จำนองมีมูลค่าต่ำกว่าหนี้เงินกู้ จำเลยที่ 1 พยายามติดต่อขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอยู่เห็นได้ว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการคัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยโดยคำสั่งหลังเสร็จการไต่สวนแล้ว ข้อวินิจฉัยดังกล่าวหากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะคัดค้าน ก็ชอบที่จะคัดค้านโดยการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น มิใช่โดยการยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ คำร้องขอของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคำร้องขอที่ไม่พึงรับไว้ไต่สวน สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการวางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ออกไปจนถึงวันที่ 6 มกราคม 2547 ในกรณีดังกล่าวจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของตนได้ คือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระเสียภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด กรณีหนึ่ง หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างอนาถาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ อีกกรณีหนึ่ง แม้กฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะในการยื่นคำร้องขอไว้ แต่เมื่อการใช้สิทธิดำเนินการในกรณีแรกคือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต้องนำมาชำระเสียภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 ตามคำสั่งศาลชั้นต้น การใช้สิทธิดำเนินการในกรณีหลัง จำเลยที่ 2 ก็ต้องดำเนินการคือยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการใช้สิทธิเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เหมือนกันแต่จำเลยที่ 2 เพิ่งมายื่นคำร้องขอในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 เกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว คำร้องขอของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาจนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคท้าย”
พิพากษายืน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้นำค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำพิพากษานี้ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียมานับแต่ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาถึงชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ.

Share