แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมยอมรับเช็ค 5 ฉบับ ที่จำเลยออกให้ใหม่เป็นการแลกเปลี่ยนกับเช็คพิพาท และตกลงเข้าถือสิทธิตามเช็ค 5 ฉบับ ดังกล่าว กับสละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใด ๆ ที่มีอยู่ในเช็คพิพาทอีกต่อไป ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะดำเนินคดีกับจำเลยซึ่งเป็นผู้ออกเช็คพิพาทด้วย ข้อตกลงแลกเปลี่ยนเช็คระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยถือได้ว่าเป็นการยอมความกัน ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่า จำเลยออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขามหาสารคาม ลงวันที่ 27 กันยายน 2540 จำนวนเงิน 146,570 บาท ให้นางนวลน้อย วรรณพงษ์ ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และจำเลยออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขามหาสารคาม ลงวันที่ 30 กันยายน 2540 จำนวนเงิน 306,682 บาท ให้ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครั้นเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 ให้เหตุผลว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และนับโทษของจำเลยทั้งสองสำนวนนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1852/2541 หมายเลขดำที่ 267/2541 และหมายเลขดำที่ 4027/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางนวลน้อย วรรณพงษ์หรือวีระพันธ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรกจำคุก 4 เดือน กระทงที่สอง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 4 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1852/2541 หมายเลขดำที่ 267/2541 และหมายเลขดำที่ 4027/2541 (ที่ถูก 4027/2542) ของศาลชั้นต้น ศาลยังไม่มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 แล้วออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.7 ให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์ได้นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่าย ต่อมาโจทก์ร่วมและจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินกันอีกโดยจำเลยออกเช็คจำนวน 5 ฉบับ ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินใหม่ด้วยตามสัญญากู้เงินและเช็คเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.12 แต่เช็คจำนวน 5 ฉบับ ที่จำเลยออกให้โจทก์ร่วมนี้เรียกเก็บเงินไม่ได้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมมีว่า สิทธิดำเนินคดีอาญาของโจทก์และโจทก์ร่วมตามเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ ระงับไปแล้วหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานไว้อย่างชัดแจ้งว่า การกู้เงินระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยคดีนี้เป็นครั้งสุดท้ายและเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า หลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คในคดีนี้ จำเลยและโจทก์ร่วมได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันใหม่โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้ใหม่แทนสัญญากู้เงินและเช็คตามฟ้องตามสำเนาสัญญากู้เงินและสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.12 เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของจำเลยที่เบิกความว่า โจทก์ร่วมนำเช็คจำนวน 5 ฉบับ ที่จำเลยออกให้ใหม่ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย ล.14 ถึง ล.19 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเช็คจำนวน 5 ฉบับ และสัญญากู้เงินที่จำเลยออกให้ใหม่นั้นเกิดจากมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมยอมรับเช็คจำนวน 5 ฉบับ ที่จำเลยออกให้ใหม่เป็นการแลกเปลี่ยนกับเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ และตกลงเข้าถือสิทธิตามเช็คจำนวน 5 ฉบับ ดังกล่าว กับสละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใด ๆ ที่มีอยู่ในเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ อีกต่อไป ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะดำเนินคดีกับจำเลยซึ่งเป็นผู้ออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ ด้วย ข้อตกลงแลกเปลี่ยนเช็คระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยถือได้ว่าเป็นการยอมความกัน อันมีผลให้สิทธิในการนำคดีอาญาในเช็คพิพาทของโจทก์และโจทก์ร่วมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน