คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5892-5894/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีสามสำนวนค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นเดียวกัน โจทก์และจำเลยทั้งสามสำนวนเป็นคู่ความรายเดียวกัน พยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามสำนวนส่วนใหญ่เป็นพยานชุดเดียวกัน จะเป็นการสะดวกหากพิจารณารวมกันจำเลยยื่นคำร้องขอให้ร่วมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสามสำนวนเข้าด้วยกันหลังจากคดีสำนวนแรกสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วและสืบพยานจำเลยไปบ้างแล้ว ส่วนคดีอีกสองสำนวนเพียงแต่สืบพยานโจทก์เสร็จซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาทั้งสามสำนวน โจทก์มีโอกาสสืบพยานโจทก์ทั้งสามสำนวนและซักค้านพยานจำเลยได้เต็มที่ในสำนวนแรก แม้จำเลยจะงดสืบพยานจำเลยอีกสองสำนวนก็มิได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบในเชิงคดี การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีทั้งสามสำนวนเข้าด้วยกันจึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 28

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นสามสำนวนว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้องของโจทก์ทั้งสามสำนวนไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทุกสำนวน
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูง สุดและอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๑๗๓/๒๕๒๗ คดีหมายเลขดำที่ ๑๑๘๙๙/๒๕๒๗ และคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๘๘๑/๒๕๒๗ เข้าด้วยกันเป็นการไม่ชอบเพราะเห็นได้ชัดว่าจำเลยเอาเปรียบในการดำเนินกระบวนพิจารณานั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีทั้งสามสำนวนค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นศาลเดียวกัน โจทก์และจำเลยทั้งสามสำนวนเป็นคู่ความรายเดียวกัน พยานโจทก์ และพยานจำเลยทั้งสามสำนวนส่วนใหญ่ก็เป็นพยานชุดเดียวกัน จะเป็นการสะดวกหากพิจารณารวมกันทั้งจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้รวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสามสำนวนเข้าด้วยกัน ภายหลังจากคดีสำนวนแรกได้ทำการสืบพยานโจทก์เสร็จ และสืบพยานจำเลยไปบ้างแล้ว ส่วนคดีอีกสองสำนวนเพียงแต่สืบพยานโจทก์เสร็จซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาทั้งสามสำนวน และโจทก์เองก็มีโอกาสสืบพยานโจทก์ทั้งสามสำนวน และซักค้านพยานจำเลยได้เต็มที่ในสำนวนแรกแล้ว แม้จำเลยจะงดสืบพยานจำเลยอีกสองสำนวนก็มิได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบในเชิงคดีแต่ประการใด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘ แล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share