แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้ฎีกาฉบับลงวันที่6 กรกฎาคม 2537 ศาลชั้นต้นสั่งว่าครบกำหนดแก้ฎีกาวันที่19 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 2 ยื่นมาเกินกำหนดระยะเวลาแล้วจึงไม่รับเป็นคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องฉบับลง วันที่ 9 พฤษภาคม 2537 ขอให้ศาลไต่สวนฎีกาโจทก์และขอขยายอายุ การยื่นคำแก้ฎีกาไว้ เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้แจ้งผลของคำสั่ง เกี่ยวกับการขยายเวลายื่นคำแก้ฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2ทราบ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิยื่นคำแก้ฎีกา ขอศาลฎีกา ได้โปรดมีคำสั่งรับคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 หรือรับไว้ เป็นคำแถลงการณ์ต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 167)
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยใน สำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80,83ให้วางโทษ จำคุกคนละ 10 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยทั้งสามไว้ในระหว่างฎีกา
โจทก์ฎีกา (อันดับ 149)
จำเลยที่ 2 ได้รับสำเนาฎีกาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ ไต่สวนอายุฎีกาของโจทก์และให้ถือเอาวันที่จำเลยที่ 2 ทราบ คำสั่งของศาลเป็นวันเริ่มกำหนดอายุแก้ฎีกา (อันดับ 149 แผ่นที่ 6,157)
วันที่ 15 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้ฎีกา(คำแก้ฎีกาลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2537) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำแก้ฎีกาดังกล่าว (อันดับ 164)
จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 167)
คำสั่ง
คำร้องของ จำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2537ไม่ชัดแจ้งว่าเป็นการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา เมื่อ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับสำเนาฎีกาของโจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 แล้วมิได้ยื่นคำแก้ฎีกาเสียภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2537 แต่กลับมายื่นภายหลัง จึงเป็นการยื่น คำแก้ฎีกาเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่รับเป็นคำแก้ฎีกา แต่ให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์