คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 903-912/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 แต่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 35 วรรคสามและวรรคสี่ การที่โจทก์ที่ 2 เบิกความเป็นพยานจึงมีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์นำสืบเพียงว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ได้สาบานตนและให้การต่อพนักงานตรวจแรงงงาน หรือเบิกความต่อศาลว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 โดยมิได้พิจารณาคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังพยานหลักฐานอันเป็นสาระแก่คดีซึ่งอาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอื่นอีกสิบสำนวน โดยเรียกโจทก์ทั้งสิบสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ตามลำดับ แต่คดีอื่นยุติไปแล้วโดยโจทก์ถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางบางส่วนและยุติไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางบางส่วน คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีสิบสำนวนนี้

โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรักษาความปลอดภัยจำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ได้รับค่าจ้างอัตราวันละตามที่ระบุในคำฟ้องโจทก์แต่ละสำนวน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 17 ของเดือน ระหว่างทำงานจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบตามจำนวนที่ระบุในคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนโจทก์ทั้งสิบลาออกจากงานและทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสิบตามฟ้อง

จำเลยทั้งสิบสำนวนให้การว่า จำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งหมด โจทก์ทำหนังสือปลดเปลื้องสิทธิเรียกร้องไว้แก่จำเลยเป็นการประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,142 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,508 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 11,089 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน1,333 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน 9,440 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 10,633 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 9,926 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13

โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า ในการดำเนินคดีนี้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ได้แต่งตั้งให้โจทก์ที่ 2 และที่ 12 เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีตามบันทึกการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2542 และในวันที่18 มกราคม 2543 โจทก์ที่ 2 ได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ความว่า ในระหว่างการทำงานกับจำเลยนั้น จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง โจทก์ที่ 2 กับพวกได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงานเขตพื้นที่บึงกุ่มตามบันทึกคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.5 ต่อมาพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำเตือนให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 2 กับพวก ตามเอกสารหมาย จ.7 (ที่ถูกเอกสารหมาย จ.20 พร้อมรายละเอียดแนบท้าย) เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35วรรคสาม และวรรคสี่บัญญัติไว้ความว่าในกรณีที่มีโจทก์หลายคน ศาลจะจัดให้โจทก์เหล่านั้นแต่งตั้งโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีก็ได้ และวิธีการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลแรงงาน และข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีข้อ 5 กำหนดว่า “ผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีมีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์ทุกคนตั้งแต่เริ่มคดีหรือตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งแล้วแต่กรณี และให้ถือว่าการกระทำของผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีดังกล่าวผูกพันโจทก์ทุกคน” การที่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 แต่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีนั้นเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 วรรคสาม และวรรคสี่ ฉะนั้นภายหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งแล้ว การที่โจทก์ที่ 2 เบิกความเป็นพยานในคดีจึงต้องถือว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2มีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์นำสืบเพียงว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงานตามเอกสารหมาย จ.5 โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6ถึงที่ 13 ได้สาบานตนและให้การต่อพนักงานตรวจแรงงาน หรือเบิกความต่อศาลว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4และที่ 6 ถึงที่ 13 นั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวมิได้พิจารณาเกี่ยวกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 โดยเฉพาะในเรื่องคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างซึ่งรวมทั้งโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ตามเอกสารหมาย จ.20 และรายละเอียดแนบท้ายหนังสือดังกล่าวซึ่งระบุถึงจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง ทั้งนี้แม้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 จะมิได้เบิกความอ้างเอกสารหมาย จ.20 ด้วยตนเองก็ตาม ก็ต้องถือว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องดังกล่าวมีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13ด้วย จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังพยานหลักฐานอันเป็นสาระแก่คดีซึ่งอาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 แล้วให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีของโจทก์ดังกล่าวและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share