คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340-4341/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การต่อเมื่อโจทก์มีคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงศาลชั้นต้นจะไม่มีคำสั่งนั้นหากโจทก์ไม่มีคำขอดังกล่าว แต่การที่โจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การมิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสองไม่ขาดนัดยื่นคำให้การเพราะเมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคแรก (เดิม) ผลของการที่โจทก์มีคำขอดังกล่าวมีเพียงว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปเท่านั้น หากโจทก์ไม่ยื่นคำขอภายในกำหนดก็เป็นผลให้ศาลชั้นต้นอาจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ มาตรา 198 วรรคแรกและวรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์โดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวข้องกับปัญหาว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่แต่อย่างใด ดังนั้น การขออนุญาตยื่นคำให้การตามมาตรา 199(เดิม) จึงไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา 198 วรรคแรก (เดิม) ก่อน เพราะการที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้จำเลยทั้งสอง ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การยื่นคำให้การได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดหรือไม่
การขออนุญาตยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดยื่นคำให้การซึ่งหากจะถือว่าเป็นการขอขยายระยะเวลานั้น จำเลยทั้งสองจะต้องอ้างทั้งพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย และอ้างเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจยื่นคำขอขยายระยะเวลานั้นก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23แต่ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองอ้างเพียงเหตุที่มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้นหาได้อ้างพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การจึงไม่อาจถือเท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยทั้งสองได้
แม้ปัญหาข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตนมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์จะมิใช่ประเด็นข้อพิพาท เพราะจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องโจทก์ โจทก์คงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้ตามฟ้อง และในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะสาบานให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง (เดิม)ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ได้สาบานตนและถามค้านพยานโจทก์ในปัญหาดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2425 ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2538 จำเลยทั้งสองร่วมกันถมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2461 ของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ติดแนวเขตที่ดินของโจทก์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์แปลงดังกล่าวทางด้านทิศใต้ยาวประมาณ 40 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ50 ตารางวา แล้วจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของจำเลยทั้งสองรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ 50 ตารางเมตร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และห้ามมิให้จำเลย (ที่ถูกจำเลยทั้งสอง) เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน จำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายและรื้อถอนทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ

ก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เป็นความบกพร่องของจำเลยทั้งสองเอง ขอให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งสอง

ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งสองแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องแล้วพิจารณาคดีต่อไป และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ในส่วนที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2966/2539ของศาลชั้นต้น หากสภาพบังคับไม่เปิดช่องให้กระทำได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่ดินให้โจทก์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท ส่วนคำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นและพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านคำสั่งและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นประการแรกว่า จำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้วปรากฏว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าการขออนุญาตยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199(เดิม)ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคแรก(เดิม) ก่อนหรือไม่ และที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การดังกล่าวจะถือเท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยทั้งสองได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การต่อเมื่อโจทก์มีคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง ศาลชั้นต้นจะไม่มีคำสั่งนั้นหากโจทก์ไม่มีคำขอดังกล่าว อย่างไรก็ตามการที่โจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การมิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสองไม่ขาดนัดยื่นคำให้การ เพราะเมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งมิได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลภายในกำหนดเช่นว่านั้น ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคแรก(เดิม) แล้ว ผลของการที่โจทก์มีคำขอดังกล่าวมีเพียงว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปเท่านั้น หากโจทก์ไม่ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาดังว่านั้น ก็เป็นผลทำให้ศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นออกเสียจากสารบบความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคแรกและวรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์โดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวข้องกับปัญหาว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่แต่อย่างใด เหตุนี้การขออนุญาตยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199(เดิม) จึงไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา 198 วรรคแรก(เดิม) ก่อนข้อเท็จจริงในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้จำเลยทั้งสองซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดหรือไม่เท่านั้น หากจำเลยทั้งสองมิได้ขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ศาลชั้นต้นย่อมอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรได้ แต่ถ้าการขาดนัดนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุสมควร ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคแรกและวรรคสอง(เดิม) ส่วนปัญหาว่าที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การดังกล่าวจะถือเท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยทั้งสองได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กรณีนี้เป็นการขออนุญาตยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว ซึ่งหากจะถือว่าเป็นการขอขยายระยะเวลา จำเลยทั้งสองจะต้องอ้างทั้งพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายและอ้างเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจยื่นคำขอขยายระยะเวลานั้นก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่ปรากฏตามคำร้องขอของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองอ้างเหตุที่มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้น หาได้อ้างพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใดไม่ ดังนี้ ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การดังกล่าว จึงไม่อาจถือเท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยทั้งสองได้ สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่นั้น ปรากฏตามคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งสองลงวันที่ 25 เมษายน 2539 และทางไต่สวนพยานของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหมายเรียกให้ให้การและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 3 เมษายน2539 โดยรับไว้แทนจำเลยที่ 1 ด้วย แล้วหลงลืมไว้บนตู้สินค้าเนื่องจากต้องรีบเดินทางไปจังหวัดชลบุรีเพื่อประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษ แล้วเดินทางไปดูแลพี่ชายซึ่งป่วยหนักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังต้องไปติดต่อหาสถานที่ศึกษาให้แก่บุตรและกลับมาถึงบ้านเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 จึงรีบติดต่อทนายความและทราบว่าพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว และจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่าก่อนถูกฟ้องเป็นคดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาบุกรุก ในการดำเนินคดีอาญานั้นจำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งทนายความให้มาดำเนินคดีแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้รับหมายเรียกให้ให้การและสำเนาคำฟ้องคดีนี้โดยชอบแล้ว ไม่อาจอ้างเหตุที่หลงลืมเพราะจำเลยที่ 2 มีธุระส่วนตัวต้องทำจึงไม่อาจยื่นคำให้การได้ทันภายในกำหนดว่ามีเหตุผลอันสมควรได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มีทนายความในคดีอาญาที่เกี่ยวกับคดีที่ตนถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งนี้อยู่แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 อาจติดต่อกับทนายความของตน เพื่อยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การหรืออาจขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การโดยอ้างพฤติการณ์พิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่จำเลยที่ 2 หาได้เอาใจใส่ในการดำเนินการดังกล่าวหรือแจ้งให้จำเลยที่ 1ดำเนินการไม่ พฤติการณ์ดังกล่าว ของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปเป็นข้อสุดท้ายว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารพาณิชย์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์อันเป็นที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2966/2539 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ก่อนวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การจะถือว่าฎีกาในข้อนี้ของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรกหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้ปัญหาตามข้อฎีกาดังกล่าวของจำเลยทั้งสองจะมิใช่ประเด็นข้อพิพาท เพราะจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีเป็นประเด็นไว้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้ตามคำฟ้อง และในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การเช่นคดีนี้จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะสาบานตนให้การเป็นพยานเอง และถามค้านพยานโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง(เดิม) ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ได้สาบานตนให้การเป็นพยานและถามค้านพยานโจทก์ในปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบ โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่าโจทก์ซื้อที่ดินแปลงพิพาทจากนายนิพนธ์ พิบูลย์พนธ์เมื่อปี 2532 เนื้อที่จำนวน 1 ไร่ 1 ตารางวา ในราคา 101,000 บาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2966/2539 ของศาลชั้นต้น เป็นการซื้อที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่ ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทิศเหนือจดที่ดินของนายนิพนธ์ ทิศตะวันออกติดถนนเพชรเกษม ทิศใต้จดที่ดินของนางสมคิด อุชุภาพ น้องนายนิพนธ์และทิศตะวันตกจดที่ดินของนางเผือน สิทธิเกษร โดยที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือกว้าง 37.20 เมตร ทิศตะวันออกยาว 42 เมตร ทิศใต้กว้าง40 เมตร และทิศตะวันตกยาว 42 เมตร ต่อมาเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2538 โจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารพาณิชย์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทางด้านทิศใต้คิดเป็นเนื้อที่ 50 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.1โจทก์จึงเข้าไปโต้แย้งขณะที่จำเลยทั้งสองกำลังปลูกสร้างอาคาร แต่จำเลยทั้งสองบอกว่าไม่ได้รุกล้ำ จากนั้นวันที่ 8 ธันวาคม 2538 โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอท่าแซะมาทำการรังวัดตรวจสอบ นายยุทธพร พรหมหาญ เจ้าพนักงานที่ดินมาทำการตรวจสอบรังวัดแนวเขตที่ดินให้โจทก์ ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ในข้อนี้โจทก์มีนายนิพนธ์เจ้าของที่ดินที่ขายให้โจทก์ มาเบิกความสนับสนุนว่าเมื่อปี 2538 จำเลยที่ 2 ได้นำดินมาถมในที่ดินที่จำเลยที่ 2 ซื้อมาจากนางสมคิดโดยถมสูงขึ้นกว่าที่ดินเดิมประมาณ 1 เมตร ขณะที่ถมพยานเดินไปตรวจสอบดูแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 นำดินมาถมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 2 เมตรและทิศตะวันตกประมาณ 1 เมตร เหตุที่พยานทราบเพราะแนวเขตระหว่างที่ดินเป็นที่ดินแปลงเดิมของนางสมคิด ที่ดินของพยานเดิมมีคันนาเป็นแนวเขตอยู่ เมื่อจำเลยที่ 2นำดินมาถมนั้นได้นำดินมาถมทับคันนาที่เป็นแนวเขตเดิมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์พยานจึงแจ้งเตือนจำเลยที่ 2 ว่าถมดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ยืนยันว่าไม่ได้รุกล้ำ พยานจึงบอกให้โจทก์ทราบ เมื่อโจทก์ทราบเช่นนั้นจึงเข้ามาตรวจสอบดูที่ดินแล้วไปนำเจ้าพนักงานที่ดินมาตรวจสอบรังวัดใหม่ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถมดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์จริง ซึ่งในวันตรวจสอบรังวัดนั้นพยานอยู่ด้วย และนายสมปองมีแสง เจ้าพนักงานที่ดินในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอท่าแซะกับนายยุทธพรเจ้าพนักงานที่ดิน 4 สำนักงานที่ดินอำเภอท่าแซะพยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน 2538 โจทก์ได้ไปยื่นคำขอให้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ เพื่อขายจำนวน 9 แปลงที่สำนักงานที่ดินอำเภอท่าแซะ นายสมปองจึงสั่งให้นายยุทธพรเป็นผู้ไปทำการรังวัดแบ่งแยก รายละเอียดปรากฏตามระวางขยายงาน น.ส.3 และหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538นายยุทธพรได้เข้าไปทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของโจทก์แปลงพิพาท โดยวัดจากด้านทิศเหนือซึ่งมีหลักเขตแบบปูนซีเมนต์ไปยังทิศใต้ซึ่งปรากฏตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.1 ว่ามีความยาว 42 เมตร แต่นายยุทธพรวัดได้เพียง 40 เมตร ก็ไปขนกับอาคารที่จำเลยทั้งสองกำลังปลูกสร้างอยู่ ปรากฏว่าเนื้อที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้ขาดหายไปประมาณ 16 ตารางวา ส่วนจำเลยทั้งสองคงมีตัวจำเลยทั้งสองสาบานตนให้การเป็นพยานว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินแปลงที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้แต่ไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื่องจากก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างจำเลยทั้งสองได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินมาทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินแล้วปรากฏว่าอาคารที่จะก่อสร้างไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จึงได้ปลูกสร้างอาคาร ซึ่งระหว่างที่ดำเนินการปลูกสร้างอาคารนั้นสามีโจทก์อยู่ด้วยตลอดและไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด เห็นว่า โจทก์นอกจากจะมีตัวโจทก์เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามคำฟ้องแล้วยังมีนายนิพนธ์เจ้าของที่ดินมาเบิกความสนับสนุนและมีนายสมปองกับนายยุทธพร เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอท่าแซะซึ่งมาทำการรังวัดที่ดินพิพาทอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับคำสั่งจากนายสมปองเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอท่าแซะมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองคงมีแต่ตัวจำเลยทั้งสองมาสาบานตนให้การเป็นพยานลอย ๆ และจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่าการนำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดตรวจสอบแนวเขตก่อนปลูกสร้างอาคารไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ เพียงแต่นำมารังวัดเป็นการส่วนตัว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อถือและรับฟังได้มากกว่าคำสาบานตนให้การเป็นพยานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่จำนวน 16 ตารางวาตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 และล.8 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2966/2539 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share