แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีเรื่องมีฝิ่นผิด พระราชบัญญัติฝิ่น เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยฝิ่นของกลางในครอบครองของจำเลยสมฟ้องแล้วจำเลยเถียงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นว่ามีฝิ่นอยู่ในของกลาง จำเลยต้องพิสูจน์ให้เห็นความบริสุทธิ์
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้เป็นกรณีเดียวกัน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมา
โจทก์ฟ้องรวมใจความว่า จำเลยที่ 2 รับราชการเป็นตำรวจประจำกองสื่อสารทางอากาศดอนเมือง กรมตำรวจ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม2498 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามบังอาจสมคบกันมีฝิ่นดิบ จำนวน2,920 กรัม และฝิ่นสุก ซึ่งไม่ใช่ฝิ่นของรัฐบาล จำนวน 1,760 กรัมรวมจำนวน 4,680 กรัม คิดคำนวณราคาฝิ่นสุกซึ่งรัฐบาลขายในขณะกระทำผิดกรัมละ 4 บาท 50 สตางค์ เป็นราคา 21,060 บาท ไว้ในความครอบครองของจำเลย โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานโดยชอบด้วยกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลบางเขน อำเภอบางเขน จังหวัดพระนครและที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนนี้จำเลยที่ 1 เคยต้องโทษมาแล้วตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้อง จึงขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 53 พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2494 มาตรา 6 กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 63, 72
นายบุญนาค จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามข้อหาทุกประการตลอดจนเรื่องเคยต้องโทษมาแล้ว
นายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 และนายวีระ จำเลยที่ 3 ปฏิเสธข้อหา
ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสามได้สมคบกันมีฝิ่นของกลางไว้ในครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจริงดังข้อหา จึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 53พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2494 มาตรา 6 และกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 63 ให้จำคุกนายบุญนาค จำเลยที่ 1 และนายวีระ จำเลยที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับคนละสิบเท่าราคาฝิ่นเป็นเงินคนละ 210,600 บาท เฉพาะตัวนายสิบตำรวจโท เฉลียว จำเลยที่ 2กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2494 มาตรา 11 อีกด้วย ต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ จึงให้จำคุก 2 ปี และปรับ421,200 บาท เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 72แก่นายบุญนาค จำเลยที่ 1 อีก 1 ใน 3 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือนและปรับ 280,800 บาท ลดฐานปรานีตาม มาตรา 59 กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 8 เดือน และปรับ 140,400 บาท หากไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 18 หากต้องจำแทนให้จำแทนมีกำหนด 1 ปี ริบของกลาง
นายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 และนายวีระ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เรื่องนี้นายบุญนาค จำเลยที่ 1 เอาชลอม ลำใย 2 ชลอม มาฝากนายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 ขณะจะขึ้นเครื่องบินจากเชียงใหม่มาดอนเมือง ครั้นถึงดอนเมืองนายสิบตำรวจโทเฉลียวถือกระเป๋าเดินทางอยู่ในมือหนึ่งแล้ว จึงวานให้นายวีระ จำเลยที่ 3 ช่วยหิ้วชลอมลำใยไปด้วย 1 ชลอม โดยที่จำเลยทั้งสองคนนี้ไม่รู้ว่ามีฝิ่นซุกซ่อนอยู่ข้างใน ขณะถูกจับก็มิได้มีพิรุธอย่างใด รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองนี้ได้สมคบกับนายบุญนาค จำเลยที่ 1 จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยทั้งสองนี้ นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษนายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 และนายวีระ จำเลยที่ 3 ตามฟ้องของโจทก์
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว
ทางพิจารณาคดี โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2498 เวลาประมาณ 17.00 นาฬิกา มีเครื่องบินของบริษัท ซี.เอ.ที. 1 ลำ ซึ่งใช้ในราชการกรมตำรวจ บินกลับจากจังหวัดเชียงใหม่ลงมาที่สนามบินดอนเมือง มีคนประมาณ 14-15 คน รวมทั้งนายสิบตำรวจโทเฉลียวจำเลยที่ 2 และนายวีระ จำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสองคนนี้หิ้วกระเป๋าเดินทางคนละ 1 ใบ กับชลอมลำใยคนละ 1 ชลอม ลงจากเครื่องบินเรือตรีสนั่นกับพันจ่าอากาศเอกอรุณ แห่งกองพันทหารสารวัตรทหารอากาศดอนเมือง ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจค้นของต้องห้ามในบริเวณกองทัพอากาศ ได้ขอตรวจค้นผู้โดยสารเหล่านั้นทุกคนปรากฏว่า ภายในชลอมลำใยที่จำเลยทั้งสองหิ้วมา มีฝิ่นซุกซ่อนอยู่ โดยมีผลลำใยปกปิดทับไว้ข้างบนเหมือนกันทั้ง 2 ชลอมเจ้าหน้าที่สอบถาม นายสิบตำรวจโทเฉลียวจำเลยที่ 2 บอกว่ามีคนฝากมาจากเชียงใหม่ เมื่อเครื่องบินจวนจะออกโดยว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นแล้ว และไม่รู้ว่ามีฝิ่นซุกซ่อนอยู่ แต่ไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนฝากหรือฝากมาให้แก่ผู้ใด ส่วนนายวีระจำเลยที่ 3 บอกว่านายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 วานให้ช่วยหิ้วลงมาจากเครื่องบิน 1 ชลอม ก็ช่วยถือมาเท่านั้นเอง เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวจำเลยทั้งสองพร้อมด้วยฝิ่นของกลางไปยังพนักงานสอบสวน ฝิ่นของกลางรวมน้ำหนัก 4,680 กรัม คิดตามราคาฝิ่นสุกที่รัฐบาลขายเป็นเงิน 21,060 บาท
จำเลยนำสืบว่า วันเกิดเหตุเวลา 14.00 นาฬิกาเศษ ขณะที่เครื่องบินลำนี้จะออกจากสนามบินจังหวัดเชียงใหม่ นายบุญนาคจำเลยที่ 1 เอาชลอมลำใย 2 ชลอมนี้ มาฝากนายสิบตำรวจโทเฉลียวจำเลยที่ 2 โดยบอกว่าฝากไปให้นายแก้วเพื่อนของเขาที่จะมารอรับที่สนามบินดอนเมือง ตอนลงจากเครื่องบิน นายสิบตำรวจโทเฉลียวจำเลยที่ 2 ได้วานให้นายวีระ จำเลยที่ 3 ช่วยหิ้วลงไป 1 ชลอมจึงถูกจับพร้อมกันโดยจำเลยทั้งสองไม่รู้ว่ามีฝิ่นซุกซ่อนอยู่ต่อมาอีก 16-17 วัน จำเลยได้ไปติดตามจับตัวนายบุญนาค จำเลยที่ 1 มาให้พนักงานสอบสวนแล้ว
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ถ้อยคำพยานของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองนี้ ได้พร้อมด้วยฝิ่นของกลางในความครอบครองของตน สมตามคำฟ้องของโจทก์อยู่แล้ว จำเลยโต้เถียงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นด้วยว่า มีฝิ่นซุกซ่อนอยู่ภายในชลอมซึ่งอยู่ในความครอบครองของตนนั้น จำเลยจึงต้องพิสูจน์ให้เห็นความบริสุทธิ์
เฉพาะตัวนายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 รับอยู่แล้วว่าเป็นคนรับฝากชลอมลำใย 2 ชลอมนี้มาจากเชียงใหม่ โดยอ้างว่านายบุญนาคจำเลยที่ 1 ฝากมาให้แก่นายแก้ว จำเลยได้นำตัวนายบุญนาค จำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นพยานรับรองว่า นายบุญนาคเป็นคนจัดฝิ่นเถื่อนซุกซ่อนไว้ในชลอมลำใย แล้วนำไปฝากนายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 ในขณะที่เครื่องบินจวนจะออกจากสนามบินเชียงใหม่ โดยนายบุญนาคได้นัดให้นายแก้วมาคอยรับฝิ่นที่สนามบินดอนเมือง
สังเกตตามคำให้การของนายบุญนาคแล้ว รู้สึกว่านายบุญนาคมั่นใจเหลือเกินว่า จะส่งฝิ่นจากจังหวัดเชียงใหม่มาทางเครื่องบินได้แน่นอนในวันที่เกิดเหตุจนถึงได้สั่งให้นายแก้วมาคอยรับที่สนามบินดอนเมือง ดังนั้น นายบุญนาคให้การว่า ได้นำชลอมฝิ่นมาที่สนามบินเชียงใหม่โดยตั้งใจจะไปกรุงเทพฯแต่เผอิญไม่ทันเครื่องบิน บ.ด.ท. เห็นมีแต่เครื่องบินที่เกิดเหตุติดเครื่องอยู่จึงได้ฝากชลอม 2 ชลอม นั้นมา ถ้านายบุญนาคตั้งใจจะไปกรุงเทพฯ จริงแล้ว เหตุใดจึงกระทำให้เผอิญไม่ทันเครื่องบิน บ.ด.ท. นายบุญนาคไม่ได้อธิบายเหตุผลดังกล่าวนี้ให้เห็นเลยชั้นสอบสวนนายบุญนาคก็มิได้ให้การเช่นนี้ โดยให้การว่า เครื่องบินโดยสารธรรมดาก็ยังอยู่ แต่เห็นว่า ฝากเครื่องบินทางราชการปลอดภัยกว่าไม่มีใครตรวจค้นเข้มงวดเหมือนเครื่องบินโดยสารธรรมดา เหตุผลจึงไม่น่าเชื่อว่า นายบุญนาคจะไปกรุงเทพฯ โดยตนเองดังที่ให้การมาดังนี้ แล้วนายบุญนาคจะมีความมั่นใจอะไรหนักหนาจนถึงสั่งให้นายแก้วมาคอยรับฝิ่นได้ดังนั้น อาจไม่มีใครยอมรับฝากมาเลยก็ได้เพราะอาจเกิดผลร้ายขึ้นได้ง่าย ๆ อย่างที่ปรากฏอยู่แล้วนี้ศาลฎีกาจึงไม่เชื่อว่าเหตุการณ์จะเป็นความจริงดังที่นายบุญนาคเบิกความมา นอกจากจะเป็นเรื่องแก้ตัวพยายามให้คนอื่นพ้นความผิดโดยยอมรับผิดเสียเองคนเดียวเท่านั้น
นายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 เป็นตำรวจอยู่เอง น่าจะรู้ถึงเล่ห์เหลี่ยมของการส่งสิ่งของต้องห้ามอยู่แล้ว ขณะนั้นจำเลยแต่งเครื่องแบบตำรวจ และโดยสารเครื่องบินในทางราชการของกรมตำรวจซึ่งอาจรอดพ้นจากการตรวจค้นอันกวดขันของเจ้าหน้าที่ไปได้ง่าย และตามคำให้การของจำเลยก็แสดงว่ามีความระมัดระวังในข้อนี้ดีอยู่ โดยจำเลยให้การว่า เป็นคนไม่รู้จักกันก็ไม่ยอมรับฝากของมา สำหรับนายบุญนาคคนนี้ จำเลยก็ยอมรับไม่รู้จักกันสนิทสนมเพียงแต่รู้จักอย่างฉาบฉวย และไม่ได้พบปะกันตั้ง 4-5 ปีมาแล้วมิหนำซ้ำคนที่จะรับของซึ่งอ้างกันว่าเป็นนายแก้วนั้น จำเลยเองก็รับว่าไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำไป เหตุไฉนจึงยอมรับฝากพามา แล้วจะเอาไปส่งให้แก่ใครที่ไหนกัน มิหนำซ้ำของนี้เพียงเท่าที่เห็นว่าเป็นผลลำใย ไม่ใช่เรื่องเร่งร้อนจนถึงต้องฝากกันมาทางเครื่องบินโดยมีคนจะต้องมาคอยรับ น่าจะกระทำให้จำเลยนึกเฉลียวใจได้บ้างนอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบฝิ่นและสอบถามจำเลยก็ไม่ได้บอกชื่อคนฝากและคนรับของให้ทราบในทันที และจำเลยให้การว่านายบุญนาคส่งนามบัตรให้ข้าพเจ้า 1 ใบ บอกว่าให้เอาไปให้นายแก้ว ที่สถานีดอนเมือง จำเลยก็ไม่ได้แสดงนามบัตรเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ล้วนแต่เป็นเรื่องที่คิดขึ้นใหม่ในภายหลัง เพื่อปลีกตนให้พ้นความผิดเท่านั้นเอง แต่เหตุผลขัดกันเป็นพิรุธหมดสิ้นทุกตอน จึงไม่สามารถจะกระทำให้จำเลยที่ 2 รอดพ้นความผิดไปได้
สำหรับตัวนายวีระ จำเลยที่ 3 ตามทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าได้สมคบกับนายบุญนาค จำเลยที่ 1 และนายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 ประการใด เพียงแต่ในขณะที่จะลงจากเครื่องบิน นายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 ต้องหิ้วกระเป๋าเดินทางมือหนึ่ง หิ้วชลอมมือหนึ่งเหลือชลอมอีก 1 ชลอม หิ้วเอามาด้วยไม่หมด จึงได้วานให้นายวีระจำเลยที่ 3 ช่วยหิ้วไปด้วยเท่านั้น ซึ่งนายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 ได้ให้การรับรองว่าเป็นความจริง และได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตั้งแต่แรกว่าเป็นเช่นนั้น เหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นไปเช่นนั้นได้จริง จึงเอาผิดแก่นายวีระจำเลยที่ 3 ไม่ได้
อาศัยเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวมา ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้ลงโทษนายสิบตำรวจโทเฉลียว จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะเรื่องค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และ มาตรา 29, 30 โดยกำหนดเวลาสำหรับการกักขังแทนค่าปรับ 1 ปี นอกจากที่แก้ไขนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์