คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเอาทรัพย์สินมาลงหุ้น ของโจทก์และจำเลยทั้งสองนั้น มิได้เอาทรัพย์สินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนเป็นแต่เพียงเอามาให้ใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วน จำเลยทั้งสองและโจทก์ จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ที่แต่ละคน สามารถจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ ฉะนั้นการที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างโดยจำหน่ายเฉพาะส่วนของตน จึงเป็นการใช้สิทธิ ตามกฎหมายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็น การชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอม จากโจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน เพราะการเป็นหุ้นส่วนต้อง เกิดขึ้นโดยความตกลงระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วย เมื่อโจทก์ ยังมิได้ตกลงให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสองเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ผู้รับโอนก็ หากลายเป็นหุ้นส่วนไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็น การผิดสัญญาหุ้นส่วน

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าหุ้น กันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 22935 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมกับปลูกสร้างอาคารแฟลตบนที่ดินดังกล่าวโดยใช้ชื่อว่าแฟลตสามนาง เพื่อให้บุคคลภายนอกเช่านำผลประโยชน์ที่ได้รับมาแบ่งปันให้แก่หุ้น ส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าหุ้นกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 22936 ซึ่งติดกับที่ดินแปลงแรกเพิ่มขึ้นอีก 1 แปลง สร้างเป็นสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ ร้านค้า เพื่อหาประโยชน์ร่วมกัน โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมกันบริหาร ต่อมาโจทก์ยินยอมให้พันตำรวจเอกศิโรช เพียรสกุล สามีจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยทั้งสองเป็นผู้บริหารแฟลตสามนาง หลังจากนั้นโจทก์ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์เฉพาะในปี 2527 แล้วโจทก์ไม่ได้รับผลประโยชน์อีก โจทก์ทวงถามแต่จำเลยทั้งสองผัดผ่อน ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงตกลงเกี่ยวกับการบริหารแฟลตสามนางใหม่ โดยให้พลตำรวจตรีบำรุง กาญจนวัฒน์ สามีโจทก์ในฐานะตัวแทนโจทก์เป็นผู้บริหารและดูแลผลประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินกิจการพลตำรวจตรีบำรุงเข้าดูแลแฟลตสามนางตามข้อตกลงได้ 6 เดือน จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 22935 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่นายยุคลธร โลเจริญกุลและนางรัตนา หัศบำเรอ โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 พร้อมอาคารแฟลตสามนางและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้แก่บริษัทเค.เอช.บิลติ้ง จำกัด อันเป็นการกระทำผิดวัตถุประสงค์อันเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญาห้างหุ้นส่วน เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับส่วนแบ่งหนึ่งในสามในค่าเช่าแฟลตสามนาง เป็นเงิน 36,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 36,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จในสำนวนแรก และชดใช้เงินจำนวน 3,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จในสำนวนที่สองแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคัดค้านการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการละเมิด กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ยังคงมีอยู่เช่นเดิมโจทก์ได้รับส่วนแบ่งไปถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่เสียหายแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีสำนวนแรก(คดีหมายเลขดำที่ 2536/2535 ของศาลชั้นต้น) ส่วนในคดีสำนวนที่สอง (คดีหมายเลขดำที่ 2537 ของศาลชั้นต้น) ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 2,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินในคดีสำนวนที่สอง (คดีหมายเลขแดงที่ 17645/2539) ของศาลชั้นต้น) จำนวน 1,510,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และทั้งสองได้เข้าหุ้น กันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 22935 และ 22936 ตำบลสามเสนใน บางซื่อฝั่งใต้ อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และก่อสร้างอาคารแฟลต 5 ชั้น 1 หลัง 3 ชั้น 1 หลัง พร้อมสระว่ายน้ำ ร้านค้า และสนามเทนนิส เพื่อให้เช่าและนำกำไรมาแบ่งปันกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสองให้แก่บุคคลภายนอก มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในสำนวนแรกว่า การที่จำเลยทั้งสองโอนขายกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ 22935 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลภายนอกเป็นการผิดสัญญาหุ้นส่วนระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า การเอาทรัพย์สินมาลงหุ้นของโจทก์และจำเลยทั้งสองนั้นมิได้เอาทรัพย์สินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนเป็นแต่เพียงเอามาให้ใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วน จำเลยทั้งสองและโจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 22935 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้” การที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยจำหน่ายเฉพาะส่วนของตน จึงเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติข้างต้น จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิกระทำได้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทั้งการกระทำดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นการชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน เพราะการเป็นหุ้น ส่วนต้องเกิดขึ้นโดยความตกลงระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันที่จะต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด เมื่อโจทก์ยังมิได้ตกลงให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสองเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ผู้รับโอนก็หากลายเป็นหุ้นส่วนไม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการผิดสัญญาหุ้นส่วนและไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ประเด็นเรื่องค่าเสียหายส่วนนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์สำนวนแรกฟังไม่ขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องค่าเสียหายในสำนวนที่สองที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายส่วนนี้เดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน รวมเป็นเงิน 2,400,000 บาท โดยไม่ต้องนำยอดเงิน 650,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับในช่วงที่เข้าบริหารกิจการมาหักออกเพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งทั้งเป็นผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับคนละช่วงระยะเวลากัน และจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 30,000 บาท นั้นสูงเกินไป ตามคำพันตำรวจเอกศิโรชพยานจำเลยได้ความว่าในช่วงปี 2527 ถึง 2533 มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายประมาณ 80,000 ถึง 100,000 บาทต่อเดือน หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือประมาณเดือนละ 10,000 ถึง 20,000 บาท ไม่ใช่มีรายได้สุทธิเดือนละ 80,000 ถึง 100,000 บาท ทั้งโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ค่าเสียหายที่แท้จริงได้ สมควรยกฟ้องโจทก์นั้น โจทก์มีพลตำรวจตรีบำรุงสามีโจทก์เบิกความเป็นพยานได้ความว่าเดิมโจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมกันบริหารกิจการแฟลตสามนางที่เข้าเป็นหุ้นส่วนกัน ต่อมาปี 2527 มีการเปลี่ยนแปลงโดยพันตำรวจเอกศิโรชสามีจำเลยที่ 2 เข้าบริหารแทน แต่แบ่งผลประโยชน์ให้แก่โจทก์เฉพาะปี 2527 เพียง 12 เดือนแรก หลังจากนั้นไม่ได้แบ่งผลประโยชน์ให้โจทก์เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน รวมเป็นเงิน 4,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 โจทก์ และจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงกันตามเอกสารหมาย จ.7 ให้พลตำรวจตรีบำรุงเข้าบริหารกิจการแฟลตสามนาง นำรายได้มาชำระคืนในส่วนที่โจทก์ไม่ได้รับมาตั้งแต่ปี 2537 ฝ่ายจำเลยมีพันตำรวจเอกศิโรชเบิกความเป็นพยานได้ความว่า ได้เข้าบริหารกิจการแฟลตสามนางเมื่อปี 2527 ถึง 2533 แต่ไม่ได้ทำบัญชีตามระบบบัญชี คงทำแต่บันทึกรายรับรายจ่ายไว้เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิเสธความถูกต้องเป็นหนังสือตกลงเกี่ยวกับการบริหารแฟลตสามนางระหว่างห้างหุ้นส่วนคือโจทก์กับจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้มีข้อความระบุชัดเจนว่า พันตำรวจเอกศิโรช บริหารแฟลตมาเป็นเวลา 7 ปี แต่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งรายได้เพียง 1 ปีแรก ส่วน 6 ปีหลังไม่ได้รับผลประโยชน์เลย จำนวนที่แท้จริงอยู่ในระหว่างตรวจสอบ จึงตกลงให้พลตำรวจตรีบำรุง ในฐานะตัวแทนโจทก์บริหารแฟลตแทน และผลประโยชน์ที่ได้รับให้แบ่งเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยจำเลยทั้งสองให้ผลประโยชน์ที่จะได้รับจำนวน 3 ใน 4 ส่วน เพื่อเป็นการชดใช้ส่วนแบ่ง ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้รับข้างต้นจนกว่าจะครบจำนวน ดังนั้นที่พลตำรวจตรีบำรุงเบิกความว่า โจทก์ไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน แตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.7 จึงไม่น่ารับฟัง เชื่อว่าโจทก์ไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากหุ้นส่วนเป็นเวลา 6 ปีเท่านั้น แม้ตามเอกสารหมาย จ.7 จะไม่ได้ระบุจำนวนผลประโยชน์ซึ่งโจทก์ไม่ได้รับเป็นเวลา 6 ปี ไว้โดยได้ความว่าจำเลยที่แท้จริงอยู่ในระหว่างตรวจสอบ แต่ก็ได้ความว่ากิจการแฟลตสามนางได้ดำเนินการมาตลอดและได้ความจากคำเบิกความของพลตำรวจตรีบำรุง สามีโจทก์ว่า ในช่วงที่จำเลยทั้งสองบริหารกิจการแฟลตในเดือนมีนาคม 2526 ถึงเดือนเมษายน 2527 โจทก์ได้รับผลประโยชน์โดยเฉลี่ยเพียงเดือนละ 30,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.36หน้า 264 ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.7 ไม่มีการระบุถึงว่ายอดเงินที่โจทก์ได้รับไปดังกล่าวนี้ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด คงระบุแต่เพียงว่าโจทก์ไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ในระยะ 6 ปีหลังฝ่ายจำเลยคงนำสืบโต้แย้งลอย ๆ โดยพันตำรวจเอกศิโรชพยานจำเลยเบิกความว่า ตั้งแต่ปี 2527 มีรายได้จากการให้เช่าอาคารประมาณเดือนละ 80,000 บาท ถึง 100,000 บาท ตัวเลขที่แน่นอนจำไม่ได้และไม่มีการทำบัญชีตามระบบบัญชีไว้ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์เป็นเวลา 6 ปี ให้เดือนละ 30,000 บาท รวมเป็นเงิน2,160,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว แต่โจทก์บรรยายฟ้องในสำนวนที่สองว่า จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์นำผลประโยชน์จากการเข้าบริหารกิจการมาหักชำระหนี้คืนโจทก์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2533ถึงเดือนพฤศจิกายน 2534 รวม 13 เดือน เป็นเงินเดือนละ50,000 บาท รวมเป็นเงิน 650,000 บาท โดยโจทก์นำมาหักออกจากยอดเงินที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้อง จึงต้องฟังว่าโจทก์ได้รับค่าเสียหายส่วนนี้ไปจากจำเลยทั้งสองแล้ว 650,000 บาท และต้องนำมาหักออกจากยอดค่าเสียหาย 2,160,000 บาท สรุปแล้วโจทก์คงมีสิทธิได้รับเงินอีก 1,510,000 บาท ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share