คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9336/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 307 วรรคสอง ได้บัญญัติเพิ่มเติมขึ้นตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2542 เป็นต้นไป ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2542 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่บทบัญญัติวรรคสองแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 307 มีผลบังคับใช้ ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในศาลเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 ว่า จำเลยทั้งสองยอมร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ยืมให้โจทก์ 6,504,631.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ17.5 ต่อปี ของเงิน 5,355,397.67 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมบางส่วนโดยวิธีผ่อนชำระเป็นรายเดือน หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด จำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์ขอบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 คือที่ดินที่จังหวัดนครราชสีมา รวม 2 โฉนด และสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินที่จังหวัดอุดรธานี รวม 2 โฉนด และสิ่งปลูกสร้าง จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในที่ดินที่จังหวัดนครราชสีมาและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกยึด เพื่อนำรายได้ชำระหนี้ให้โจทก์ปีละไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา
หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ขอให้งดการขายทอดตลาดและให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทรัพย์ที่ถูกยึด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ซึ่งบทบัญญัติในวรรคสองดังกล่าวได้เพิ่มเติมขึ้นตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม2542 เป็นต้นไป คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2542 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่บทบัญญัติวรรคสองแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 307 มีผลบังคับใช้ ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลยที่ 1 ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share