แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินของโจทก์และของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกันเป็นที่ดินว่างเปล่า ไม่มีรั้วหรือเครื่องหมายแสดงแนวเขตไว้การที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารพิพาทลงในที่ดินของ จำเลยที่ 1 โดยเพิกเฉยไม่ตรวจสอบแนวเขตที่ดินด้านที่ติดต่อกับที่ดินของโจทก์ให้แน่นอนเสียก่อน จึงเป็นการ กระทำที่ส่อแสดงถึงความไม่รอบคอบและประมาทเลินเล่อ นอกจากนี้ในการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทต่อเทศบาล ก็ไม่ปรากฏหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินและบัตรประจำตัวประชาชน คงมีแต่หนังสือให้ความยินยอมให้ก่อสร้างของโจทก์ซึ่งเป็น เจ้าของที่ดินข้างเคียงเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าลายมือชื่อ ของโจทก์เป็นลายมือชื่อปลอมพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยทั้งสองรู้หรือควรจะรู้แต่ต้นแล้วว่าอาคารพิพาท รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสอง ก่อสร้างอาคารพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารพิพาทได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองรื้อตึกแถวอาคารพาณิชย์ทั้งสองคูหาเฉพาะส่วนที่รุกล้ำ เนื้อที่ 5 ตารางวา พร้อมทำที่ดินโจทก์กลับสู่สภาพเดิมโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนส่วนของอาคารพาณิชย์ทั้งสองห้องตามฟ้องที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามรูปในแผนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานที่ดินทำขึ้น และทำที่ดินให้สู่สภาพเดิม ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย300,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารพิพาท และทำที่ดินให้สู่สภาพเดิม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าที่ดินของโจทก์และของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.1, จ.2, ล.1 และ ล.2 รวม 4 แปลง อยู่ติดกันตลอดแนวตามยาวของที่ดินทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง ปรากฏตามรูปที่ดินในแผนที่วิวาท จำเลยที่ 1 จ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ 1 แปลงละ 1 คูหา ทั้งสองแปลงเต็มเนื้อที่ดินโดยแนวผนังของอาคารพิพาททั้งสองคูหาตั้งชิดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงที่อยู่ติดต่อกันปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์และเป็นการกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ค่าเสียหายตกเป็นจำนวนเท่าใดพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์
สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองกระทำโดยสุจริตหรือไม่นั้นจำเลยทั้งสองมิได้นำนายเทิดศักดิ์ซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นผู้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ก่อนก่อสร้างอาคารพิพาทมาเบิกความต่อศาล ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังดังจำเลยอ้าง และต้องฟังว่า จำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารพิพาทลงในที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีการตรวจสอบแนวเขตให้แน่นอนเสียก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเลยทั้งสองควรกระทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อจำเลยทั้งสองรับว่าก่อนก่อสร้างอาคารพิพาท ที่ดินของโจทก์และของจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินว่างเปล่า ไม่มีรั้วหรือเครื่องหมายแสดงแนวเขตไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงส่อแสดงถึงความไม่รอบคอบ ประมาทเลินเล่อ ทั้งที่จำเลยทั้งสองอาจตรวจสอบความถูกต้องให้แน่นอนก่อน แต่กลับเพิกเฉย นอกจากนี้ยังปรากฏจากคำเบิกความของนายเอนก เอกกรัตนสิน นายช่างโยธาเทศบาลเมืองนนทบุรี พยานโจทก์ว่า ผู้ขอก่อสร้างอาคารพิพาทชิดแนวเขตที่ดินของผู้อื่นจะต้องยื่นคำขออนุญาตจากเทศบาลพร้อมต้องแสดงหลักฐานหนังสือให้ความยินยอมให้ก่อสร้างของเจ้าของที่ดินข้างเคียง สำเนาโฉนดที่ดินของผู้ให้ความยินยอมและบัตรประจำตัวของผู้ให้ความยินยอม ซึ่งจากคำขออนุญาตดังกล่าวไม่ปรากฏสำเนาโฉนดที่ดินของผู้ให้ความยินยอมและบัตรประจำตัวประชาชนคงมีปรากฏแต่หนังสือให้ความยินยอมให้ก่อสร้างของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงเท่านั้นและโจทก์นำสืบปฏิเสธมาตลอดว่าลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวไม่ใช่เป็นลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวของกองพิสูจน์หลักฐานตามฟ้อง ยืนยันว่าลายมือชื่อของโจทก์ในเอกสารข้างต้นเป็นลายมือชื่อปลอม เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองจัดทำขึ้นพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสองรู้หรือควรจะได้รู้แต่ต้นแล้วว่าอาคารพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างอาคารพิพาทไปโดยเข้าใจว่าไม่ได้ก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่เข้าใจว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยสุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้รื้อถอนอาคารพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 วรรคสอง
ในปัญหาสุดท้ายว่าค่าเสียหายธรรมดาเป็นจำนวนเท่าใดเห็นว่า อาคารพิพาทส่วนที่รุกล้ำตลอดตามแนวยาวของพื้นที่มีจำนวนเนื้อที่รวมกันเพียง เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวา จึงมิใช่เป็นจำนวนเนื้อที่มากมายนัก และหากคิดความกว้างของส่วนที่รุกล้ำมากที่สุดก็มีความกว้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ทางได้เสียของโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายในทุกด้านแล้วเห็นว่า จำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นั้นเหมาะสมดีแล้วคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเป็นบางส่วนฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางข้อ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น