คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157-158/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การปล้นทรัพย์ซึ่งกระทำต่อทรัพย์อันมีเงินสดเครื่องทองรูปพรรณ สินค้าต่างๆ พระเครื่อง เหรียญหลวงพ่อต่าง ๆ และพระเขมรซึ่งมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรกย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ทวิ
การที่ ส. และ ช. จำเลยมีปืนติดตัวมาในการปล้นทรัพย์เพื่อใช้เป็นอาวุธประหารผู้ที่ต่อสู้ขัดขืนเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ฯลฯ เมื่อคนร้ายอื่นเข้าจับตัว บ. เจ้าทรัพย์ บ. ขัดขืนสะบัดหลุดและกระโดดลงจากบ้านแล้วจำเลยทั้งสองใช้ปืนที่นำติดตัวไปยิง บ. คนละนัด เป็นเหตุให้ บ. ตายสมดังเจตนาของตน แม้ไม่ปรากฏว่ากระสุนปืนที่ถูก บ. นั้นเป็นกระสุนปืนของ ส. หรือ ช. จำเลยก็ถือว่า ส. และ ช. จำเลยร่วมกันฆ่า บ. ตามมาตรา 289(6) และ (7) (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่1383/2514)
จำเลยมีความผิดตามมาตรา 289(6) และ (7) และมาตรา 340 วรรคสุดท้าย ตามที่แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ศาลลงโทษตามมาตรา 289(6) และ (7) ได้ตามนัยมาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่าจำเลยทั้งสองสำนวนกับพวกอีก 12 คนมีปืนลูกซองยาว ปืนลูกซองพกสั้นและลูกระเบิดมือเป็นอาวุธติดตัวไป บังอาจร่วมกันปล้นเอาทรัพย์สินต่าง ๆ ของนางแฉล้ม เด่นกระจ่าง นายสง่า สร้อยทอง ปรากฏรายละเอียดตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องไปโดยทุจริต ในการปล้นทรัพย์ดังกล่าวจำเลยทั้งสองสำนวนกับพวกใช้อาวุธปืนที่ติดตัวไปบังคับขู่เข็ญบุคคลที่อยู่ในบ้านมิให้ร้องเอะอะขัดขืน และยิงนายบุญยัง เด่นกระจ่าง ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า ปรากฏตามรายงานชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องสำนวนแรก แล้วจำเลยกับพวกยังได้ขู่เข็ญคุม นายสง่า สร้อยทอง นางละมัย เด่นกระจ่าง นางสาวประไพ เด่นกระจ่าง และนายสำเนียง สร้อยทอง ให้ไปส่งจำเลยกับพวกอีกด้วยทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ เพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และเพื่อปกปิดการกระทำผิดนั้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 340, 340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่นางแฉล้ม เด่นกระจ่าง และแก่นายสง่า สร้อยทอง

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองสำนวนร่วมกันปล้นทรัพย์ของนางแฉล้มและนายสง่าและร่วมกันฆ่านายบุญยังจริงตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองสำนวนทุกคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 340, 340 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514ข้อ 14, 15 ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสำนวนทุกคน ให้จำเลยทั้งสองสำนวนร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ แก่นางแฉล้มและแก่นายสง่า

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่านายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยเป็นคนร้ายที่ปล้นทรัพย์ของนางแฉล้ม โดยนายสุนิจจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้ปืนสั้นยิงนายบุญยัง และนายชื่นจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้ปืนยาวยิงนายบุญยัง และพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่านายสมพงษ์จำเลยและนายจรัญจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ด้วย

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่านายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 340, 340 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการปล้นทรัพย์รายนี้กระทำต่อทรัพย์ซึ่งมีเงินสด เครื่องทองรูปพรรณ สินค้าต่าง ๆ พระเครื่อง เหรียญหลวงพ่อแดง เหรียญหลวงพ่อเอีย เหรียญหลวงพ่อเทศและพระเขมร มิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก นายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ทวิ ส่วนการที่นายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยใช้ปืนลูกซองยิงนายบุญยังคนละ 1 นัด แต่กระสุนปืนถูกนายบุญยังเพียงนัดเดียวโดยไม่ปรากฏว่ากระสุนปืนที่ถูกนายบุญยังนั้นเป็นกระสุนปืนของนายสุนิจจำเลยหรือของนายชื่นจำเลยนั้น เห็นว่าการที่นายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยมีปืนติดตัวมาในการปล้นทรัพย์ เพื่อใช้เป็นอาวุธประหารผู้ที่ต่อสู้ขัดขืน เพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ เพื่อปกปิดความผิดฐานปล้นทรัพย์ของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดฐานปล้นทรัพย์ของตน เมื่อคนร้ายอื่นเข้าจับตัวนายบุญยัง นายบุญยังขัดขืนโดยสะบัดหลุดกระโดดลงจากบ้านแล้ว นายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยใช้ปืนที่นำติดตัวไปยิงนายบุญยังคนละ 1 นัดเป็นเหตุให้นายบุญยังถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของตนแล้ว แม้ไม่ปรากฏว่ากระสุนปืนที่ถูกนายบุญยังนั้นเป็นกระสุนปืนของนายสุนิจจำเลยหรือนายชื่นจำเลย ถือว่านายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยร่วมกันฆ่านายบุญยังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6) และ (7) เทียบตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1383/2514 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง โจทก์ นายหมีดหรือริม หนานนุ้ย กับพวก จำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่านายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289(6) และ (7) และ 340 วรรคสุดท้าย ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6)และ (7) ตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตนายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลย ยกฟ้องโจทก์เฉพาะนายสมพงษ์จำเลยและนายจรัญจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share