คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734-1735/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ลงชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้ให้จำเลยที่ 1 ไป โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ จำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความลงไปในสัญญากู้ว่าโจทก์กู้เงินจำเลยที่ 1 จำนวนเงิน92,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2514 ซึ่งเป็นสัญญาปลอม จำเลยทั้งสอง จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ
จำเลยที่ 1 ได้นำเอกสารสัญญากู้ปลอมมาใช้ทวงถามและ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่งด้วยลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
ฟ้องในข้อหาเบิกความเท็จบรรยายว่า จำเลยทั้งสองเบิกความในคดีแพ่งว่า โจทก์กู้เงินจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ปลอมที่กล่าวมา ข้างต้น อันเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี โดยมิได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองรู้อยู่ว่าข้อความที่เบิกความนั้นเป็นความเท็จ แต่เมื่อ อ่านฟ้องโดยตลอดแล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวแล้วว่าข้อความ ที่จำเลยทั้งสองเบิกความนั้นจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ ฟ้องได้ บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่ จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 180, 177, 83 เฉพาะจำเลยที่ 1 ยังผิดตาม มาตรา 268 อีกกระทงหนึ่งด้วย ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 268 จำคุก 1 ปี ความผิดตามมาตรา 180, 177 ลงโทษตามมาตรา 177 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 10 เดือนรวมเป็นจำคุก 1 ปี 10 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 265 จำคุก 1 ปี ตามมาตรา 177 จำคุก 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2519 จำเลยที่ 1 ได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8065/2519 กล่าวหาว่าโจทก์กู้เงินจำเลยที่ 1 ไปเป็นเงิน 92,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2514 โจทก์ค้างต้นเงินและดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 130,525 บาท ขอให้บังคับโจทก์ใช้หนี้ให้ จำเลยที่ 1 ได้ส่งสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 เป็นพยานและได้อ้างจำเลยที่ 2 เป็นพยานประกอบสัญญากู้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เบิกความต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2519 ว่าโจทก์ได้กู้เงินจำเลยที่ 1 ไปจริง โจทก์ได้ให้การปฏิเสธว่าสัญญากู้ดังกล่าวเป็นสัญญาที่จำเลยทั้งสองสมคบกันปลอมขึ้น ผลที่สุดศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โดยไม่เชื่อว่าโจทก์กู้เงินจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดียังอยู่ในระหว่างฎีกา โจทก์จึงกลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นคดีสองสำนวนนี้ในทางอาญา ปัญหามีว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่

สำหรับข้อหาฐานปลอมเอกสารสัญญากู้ และใช้หรืออ้างเอกสารสัญญากู้ปลอมนั้น” ฯลฯ

“เห็นว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าโจทก์ได้กู้เงินจำเลยที่ 1 แต่เชื่อว่าโจทก์ได้ลงชื่อในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 ให้จำเลยที่ 1 ไปโดยยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และจำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความลงไปในสัญญากู้ว่าโจทก์กู้เงินจำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 92,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2514 ซึ่งเป็นสัญญาปลอม จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิดังโจทก์ฟ้อง

สำหรับข้อหาฐานเบิกความเท็จ และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองปลอมสัญญากู้แล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำสัญญากู้ที่ปลอมนั้นมาฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8065/2519 ของศาลแพ่ง ซึ่งในการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เบิกความยืนยันว่าโจทก์ได้กู้เงินจำเลยที่ 1 ไป ดังปรากฏตามคำให้การของจำเลยทั้งสอง (เอกสารหมาย จ.3, จ.4) ในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 นั้นได้นำเอกสารสัญญากู้ปลอมมาใช้ทวงถามและยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมด้วยอีกกระทงหนึ่งด้วย

ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ฐานเบิกความเท็จ โจทก์มิได้บรรยายว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความนั้น จำเลยทั้งสองรู้อยู่ว่า เป็นความเท็จฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเมื่ออ่านฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจในตัวแล้วว่าข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความนั้นจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์”

พิพากษายืน

Share