คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027-4030/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วัดร้างสงฆ์ไม่อาศัยกรมการศาสนาย่อมมีอำนาจดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินของวัดนั้น

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่พิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า วัดเมืองเถินเป็นวัดร้างสงฆ์ไม่อาศัยมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2482 จึงได้จดทะเบียนเป็นวัดร้างมีเนื้อที่4 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา ปรากฏตามที่ดินโฉนดที่ 2632 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2511 ถึง พ.ศ. 2520 มีราษฎรประมาณ 50 รายบุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยในที่วัดเมืองเถิน (ร้าง) ต่อมากรมการศาสนาต้องการปรับปรุงที่ดินนี้จึงมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่แจ้งให้ราษฎรที่บุกรุกรื้อถอนที่อยู่อาศัยออกไป มีราษฎรออกไปจำนวนมาก จำเลยทั้งสี่กับพวกไม่ยอมออก อธิบดีกรมการศาสนาจึงมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ฟ้องคดีนี้ ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.จ.1

ปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ รัตนโกสินทรศก 121 มาตรา 8 บัญญัติว่า “วัดใดร้างสงฆ์ไม่อาศัย ให้เจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรเป็นผู้ปกครองรักษาวัดนั้นด้วย” เจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรจึงมีหน้าที่ปกครองรักษาวัดเมืองเถินนับแต่วัดเมืองเถินร้างสงฆ์ตลอดมา หรือนับแต่ได้มีการจดทะเบียนวัดร้างเมื่อพ.ศ. 2482 เป็นต้นมา แต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้ทรัพย์สินขอวัดที่ถูกยุบเลิกให้ตกเป็นศาสนสมบัติกลางและมาตรา 40 ให้กรมการศาสนามีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลาง และเพื่อการนี้ให้ถือว่ากรมการศาสนาเป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วย ส่วนวัดที่จะถูกยุบเลิกนั้นก็คือวัดใดร้างพระภิกษุไม่อาศัย เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์รัตนโกสินทรศก 121 มาตรา 8 นั้นเอง เมื่อวัดเมืองเถินเป็นวัดร้างสงฆ์ไม่อาศัยและจดทะเบียนเป็นวัดร้างมาแต่ พ.ศ. 2482 กรมการศาสนาโจทก์ย่อมมีอำนาจดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินที่ดินโฉนดเลขที่ 2632 ของวัดเมืองเถิน (ร้าง)จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ได้”

พิพากษายืน

Share