คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2800-2801/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ลูกจ้างข่มขู่นายจ้าง ถือว่ามีเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ลูกจ้างเสียหายนายจ้างต้องรับผิดในค่าเสียหายของลูกจ้างในระหว่างที่นายจ้างเลิกจ้าง ศาลมีอำนาจให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายในระหว่างเลิกจ้าง ในเมื่อศาลได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปแล้ว

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 12,530 บาท 70 สตางค์ และ 22,929 บาท 70 สตางค์ ตามลำดับ และให้จำเลยรับโจทก์อื่นทั้งสองสำนวนเข้าทำงานตามเดิมในอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะลูกจ้างโจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างนายสุวิทย์ เทียนศิริ และนายทรงศักดิ์ วงศ์เทพา โจทก์ทั้งสองโดยไม่เป็นธรรมให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างข่มขู่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จึงมีเหตุอันสมควรที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ทั้งเก้าที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับกลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าจ้างและประโชน์อื่น ๆ ในระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ไม่ได้ให้อำนาจศาลสั่งจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง ในเมื่อได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมแล้ว โจทก์ทั้งเก้าเห็นว่า ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างในเรื่องได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เป็นบทให้อำนาจศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานได้ถ้าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างแต่ศาลเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ก็ให้ศาลกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทนการให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการทดแทนการกลับเข้าทำงานของลูกจ้าง เป็นคนละส่วนกับค่าจ้างหรือค่าเสียหายในระหว่างถูกเลิกจ้างของลูกจ้างที่ศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานการที่มาตราที่ 44 มิได้กล่าวถึงค่าจ้างหรือค่าเสียหายในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างของลูกจ้างที่ศาลสั่งให้นายจ้างรับเข้าทำงาน ก็มิได้หมายความว่าเป็นบทห้ามมิให้ศาลสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างหรือค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตามหลักทั่ว ๆ ไป การที่โจทก์ทั้งเก้าจะได้รับค่าจ้างหรือค่าเสียหายในระยะเวลาที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงความหมายของคำว่า ค่าจ้างแล้ว”ค่าจ้าง” หมายความว่า “เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน” ในระหว่างที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ลูกจ้างมิได้ทำงาน ลูกจ้างจึงไม่มีค่าจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ปกติเมื่อทำงานย่อมได้ค่าจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเก้าโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งเก้าเสียหาย จำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายของโจทก์ทั้งเก้า ในระหว่างที่จำเลยเลิกจ้าง ศาลย่อมมีอำนาจให้จำเลยจ่ายเสียหายในระหว่างที่โจทก์ทั้งเก้าถูกเลิกจ้าง ในเมื่อศาลได้สั่งให้จำเลยรับโจทก์ทั้งเก้าเข้าทำงานต่อไปแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางบางส่วนเฉพาะประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งเก้าที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้จำเลยรับเข้าทำงานต่อไป ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”

Share