แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นลูกไร่ทำใบยาสูบ ยืมปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลงไปจากโจทก์เพื่อใช้ในการทำใบยาสูบ จำเลยตกลงกับโจทก์ไว้ว่าจะต้องส่งคืนสิ่งของเมื่อสิ้นฤดูการทำใบยาสูบ ซึ่งอนุมานได้จากพฤติการณ์ว่าภายในสิ้นเดือนเมษายน 2526 อันเป็นกรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน การที่จำเลยยังไม่ส่งคืนของที่ยืมภายในสิ้นเดือนเมษายน 2526 จึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด แต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2529 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนของที่ยืมภายในวันที่ 11 เดือนเดียวกันจำเลยไม่คืนของตามที่ทวงถาม จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 12 เมษายน 2529 ต้องใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของราคาสิ่งของที่ส่งคืนไม่ได้นับแต่วันดังกล่าว หนังสือสัญญายืมสิ่งของ มิได้กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรให้ต้องปิดอากรแสตมป์ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2525 จำเลยได้ยืมปุ๋ยยาบำรุงใบยาสูบ และยาฆ่าแมลงจากโจทก์ จำนวน 6 รายการ คือปุ๋ยสูตร 12-12-18-2 จำนวน 100 กระสอบ เป็นเงิน 47,000 บาทยาฆ่าแมลงยี่ห้อเทมมิก 10 จี จำนวน 93 ขวด เป็นเงิน 7,030 บาทยาบำรุงใบยาสูบ ยี่ห้อยูดี จำนวน 3 โหล 1 ขวด เป็นเงิน 8,640 บาทยาฆ่าแมลงยี่ห้อเมโทรดาน จำนวน 3 โหล เป็นเงิน 8,640 บาทยาฆ่าแมลงยี่ห้อแลนเนท จำนวน 3 โหล เป็นเงิน 5,400 บาทปุ๋ยเกล็ดจำนวน 106 ถึง เป็นเงิน 6,360 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น81,870 บาท เพื่อนำไปใช้และจำหน่ายโดยตกลงว่าจำเลยจะนำปุ๋ยยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลงมาคืนให้โจทก์เมื่อเสร็จฤดูการทำใบยาสูบคือภายในวันที่ 30 เมษายน 2526 ครั้นเมื่อถึงกำหนดจำเลยได้นำมาคืนให้แก่โจทก์บางส่วนคิดเป็นเงิน 5,790 บาท ต่อมาได้นำเงินมาชำระค่าปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลงบางส่วนยังคงเหลือไม่คืนแก่โจทก์คือปุ๋ยสูตร 12-12-18-2 จำนวน 36กระสอบ ยาบำรุงใบยาสูบยี่ห้อยูดี จำนวน 28 ขวด ยาฆ่าแมลงยี่ห้อเทมมิก 10 จี จำนวน 88 ขวด ยาฆ่าแมลงยี่ห้อเมโทรดานจำนวน 3 โหล ยาฆ่าแมลงยี่ห้อแลนเนท จำนวน 3 โหล และปุ๋ยเกล็ด จำนวน 86 ถุง คิดเป็นเงินรวม 48,480 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนของที่ยังไม่คืน หากไม่สามารถคืนได้ก็ให้ชดใช้ราคารวมกันเป็นเงิน 48,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด มีหน้าที่ในการจัดซื้อหาใบยาสูบและจำหน่ายปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลง จำเลยเป็นนายหน้าของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว.จำกัด ในการจัดหาชาวไร่ยาสูบให้มาทำการตกลงขายใบยาสูบแก่บริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว. จำกัด และรับจัดหาชาวไร่ยาสูบมาทำการรับซื้อปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลงทุกชนิดกับบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว. จำกัด บริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว. จำกัดกำหนดให้จำเลยรับปุ๋ยและยาชนิดต่าง ๆ จากโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนไปมอบให้แก่ชาวไร่ยาสูบแต่ละราย จำเลยจึงมิใช่คู่สัญญากับโจทก์นิติกรรมการยืมของตามใบยืมทำขึ้นโดยเจตนาลวง เพื่ออำพรางการที่จำเลยเข้ารับเป็นนายหน้า การยืมของจากโจทก์มิได้กำหนดเวลาให้ใช้ของคืน หากโจทก์จะได้รับความเสียหายก็ได้รับความเสียหายนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2529 เป็นต้นไปเพราะเป็นเวลาสิ้นสุดที่โจทก์กำหนดให้จำเลยชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืมเป็นเงินจำนวน 48,480 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทวีระพาณิชย์ ส.ว. จำกัด จำเลยยืมสินค้าไปจากโจทก์แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปว่า “ที่จำเลยฎีกาประเด็นว่าหนี้ถึงกำหนดชำระหรือไม่และค่าเสียหายเท่าไร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยฟังตามที่โจทก์นำสืบว่า ใบยืมไม่ได้กำหนดเวลาส่งคืนแต่ตกลงกันว่าจำเลยจะส่งคืนของเมื่อสิ้นฤดูกาลทำใบยา คือภายในวันที่30 เมษายน 2526 หากคืนไม่ได้ก็จะชำระเป็นเงิน จำเลยนำสืบรับว่าเริ่มเก็บเกี่ยวใบยาสูบในเดือนเมษายน 2526 ใบยาสูบที่เก็บเกี่ยวแล้วต้องนำมาบ่มจนแห้งใช้เวลาเดือนเศษ ในเดือนเมษายน 2526ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและยาบำรุงใบยาอีกอนุมานจากพฤติการณ์ได้ว่า จะต้องส่งคืนในเดือนนั้น เมื่อจำเลยผิดนัด โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีได้ จำเลยไม่เห็นด้วยเพราะเอกสารหมาย จ.2 ไม่ได้กำหนดเวลาที่จะใช้คืนสิ่งของ ที่โจทก์เบิกความว่าตกลงคืนของภายในวันที่ 30 เมษายน 2526 เป็นการอ้างลอย ๆ หากตกลงไว้จริงโจทก์คงไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 2 ปีเศษ จึงได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนของแก่โจทก์ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 652 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยคืนของครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2529และสิ้นสุดระยะเวลายืมสิ่งของวันที่ 12 เดือนเดียวกัน โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2529 ค่าเสียหายจึงมีแต่เพียงค่าทวงถามนั้น จำเลยนำสืบรับว่าเริ่มเก็บเกี่ยวใบยาสูบในเดือนเมษายน2526 เห็นว่าการที่จำเลยยืมปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบและยาฆ่าแมลงไปจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ในการทำใบยาสูบ จำเลยจะทำใบยาสูบเองหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญแม้ตามเอกสารหมาย จ.2 จะไม่ได้กำหนดเวลาคืนสิ่งของไว้ก็ตามแต่ตามพฤติการณ์การให้ยืมสิ่งของดังกล่าวเพื่อใช้ในฤดูกาลทำใบยาสูบเมื่อสิ้นฤดูกาลแล้วก็ต้องส่งคืนหากใช้ไม่หมด ส่วนที่ใช้ไปแล้วไม่อาจส่งคืนได้ก็ต้องใช้ราคา ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาเชื่อว่าจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ไว้ว่าจะต้องส่งคืนของเมื่อสิ้นฤดูการทำใบยาสูบ ซึ่งอนุมานได้ว่า คือภายในสิ้นเดือนเมษายน 2526ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินเป็นเพียงอนุมานจากพฤติการณ์ การที่จำเลยยังไม่ส่งคืนของภายในสิ้นเดือนเมษายน 2526 จึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด แต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2529 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนของที่ยืมภายในวันที่ 11 เดือนเดียวกัน จำเลยไม่คืนของตามที่ทวงถามจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 12 เมษายน 2529 ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
จำเลยฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.2 เป็นสัญญาที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจึงจะใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาลได้แต่เอกสารหมาย จ.2 ไม่ปิดอากรแสตมป์ นั้น เห็นว่า สัญญายืมสิ่งของมิได้กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ยืม ถ้าคืนไม่ได้ใช้ชดใช้ราคาเป็นเงิน 48,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 10,908 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2