คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3043-3044/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำให้การไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ทนายจำเลยมาศาลในวันนัดพิจารณาและให้การด้วยวาจาศาลแรงงานตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้วกำหนดประเด็นข้อพิพาท และมีคำสั่งให้ นัดสืบพยานจำเลย การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยาน ดังกล่าว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องนำเรื่องการชี้สองสถานตามที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 มาใช้บังคับ ถือได้ว่าคดีแรงงานไม่มีการชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ก่อนวันนัดสืบพยานจำเลยไม่น้อยกว่า 7 วัน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยื่น คำร้องขอแก้ไขคำให้การได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาโดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนเป็นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลุกจ้าง จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 281,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และจ่ายค่าจ้างจำนวน 19,080 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การด้วยวาจาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยจริง แต่จำเลยไม่ได้ติดค้างค่าจ้างโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2542 โจทก์ทั้งสองรับสำเนาคำร้องแถลงคัดค้านศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังจากศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำให้การไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ซึ่งมาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน” คดีนี้ได้ความว่า ทนายจำเลยมาศาลในวันนัดพิจารณาและให้การด้วยวาจา ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้วได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท และมีคำสั่งให้นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 26 กรกฎาคม 2542 การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานดังกล่าวของศาลแรงงานกลางเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่จำต้องนำเรื่องการชี้สองสถานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 มาใช้บังคับถือได้ว่าคดีแรงงานไม่มีการชี้สองสถาน เมื่อคดีนี้ไม่มีการชี้สองสถาน จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องแก้ไขคำให้การฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2542 ซึ่งยื่นก่อนวันนัดสืบพยานจำเลยไม่น้อยกว่า 7 วัน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้

พิพากษากลับ อนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขคำให้การตามคำร้องฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2542

Share