คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318-329/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์โจทก์และจำเลยจึงอาจมีได้แต่สิทธิครอบครองที่ดินเมื่อโจทก์ได้เข้าครอบครองที่พิพาทภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ส่วนจำเลยแม้จะครอบครองที่พิพาทมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ แต่ จำเลยก็หาได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาตามที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ฯ มาตรา 5 บัญญัติไว้ไม่ โจทก์และจำเลยจึงต่างไม่มีกรรมสิทธิ์และ สิทธิครอบครองในที่พิพาทโดยชอบดังนั้น แม้โจทก์จะแย่ง การครอบครองที่พิพาทจากจำเลยเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว ก็ เป็นการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิได้รับ อนุญาต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินเป็นของโจทก์ คงมีอำนาจฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนเท่านั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทจำเลยต่อสู้ว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้ออกหลักฐานสิทธิครอบครองที่พิพาทแก่จำเลย หาก ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยต่อสู้ จำเลยอาจมี สิทธิครอบครองที่พิพาทดีกว่าโจทก์โดยการที่รัฐจัดที่ดิน ให้แก่จำเลยตามกฎหมาย จึงชอบที่จะฟังข้อเท็จจริงไป ก่อนหาควรด่วนงดสืบพยานไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยโจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟ้องจำเลยคนเดียวกัน โจทก์แต่ละสำนวนต่างมีที่ดินและได้เข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์มาโดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2510 เมื่อปี พ.ศ. 2521 จำเลยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินของโจทก์เพื่อออก น.ส.3 ก. ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง และให้จำเลยถอนคำขอออก น.ส.3 ก.

จำเลยให้การทั้งสิบสองสำนวนว่า จำเลยกับสามีซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตามฟ้องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 จนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2511 สามีจำเลยถูกพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาแผ้วถางก่นสร้างป่าโดยมิได้รับอนุญาต ศาลฎีกาพิพากษาว่าสามีจำเลยเข้ายึดครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 จริง แต่จะใช้สิทธิครอบครองมายันกับรัฐไม่ได้เพราะที่ดินเป็นของรัฐเพื่อให้ได้สิทธิครอบครองถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยและสามีจึงดำเนินเรื่องติดต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้ออกหลักฐานสิทธิการครอบครองแก่จำเลย ที่ดินของรัฐจึงตกเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยโจทก์บุกรุกเข้าไปครอบครองระหว่างที่ที่ดินยังเป็นของรัฐอยู่จำเลยได้ห้ามปรามและร้องทุกข์ไว้แล้ว จำเลยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินของจำเลยตามฟ้องจริงโดยอาศัยสิทธิตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย จำเลยครอบครองที่ดินติดต่อตลอดมาโดยไม่ขาดสิทธิครอบครอง โจทก์เข้าแย่งการครอบครองจากจำเลยโดยไม่สุจริต ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริง จำเลยแถลงรับว่า ที่พิพาทตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์แต่ละสำนวนเข้าแย่งการครอบครองตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2519 และโจทก์แต่ละสำนวนต่างอยู่ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว มีคำสั่งให้งดสืบพยานและวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าแม้จะฟังว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทมาก่อน แต่ปรากฏตามคำรับของจำเลยว่าโจทก์ได้แย่งการครอบครองและอยู่ในที่พิพาทมาเป็นระยะเวลากว่าปีแล้วเมื่อจำเลยมิได้ใช้สิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปี จำเลยย่อมหมดสิทธิที่จะเอาคืนซึ่งการครอบครองที่หลุดมือไปแล้วทันที อำนาจการครอบครองที่พิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ถูกรบกวนการครอบครองที่ดินจึงมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยถอนคำขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออก น.ส.3 ก. เสีย

จำเลยทั้งสิบสองสำนวนอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง หรือย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสิบสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ โจทก์และจำเลยต่างไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแต่อาจมีสิทธิครอบครองโดยการครอบครองที่ดินมาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับดังที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไป และให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย” ประมวลกฎหมายที่ดินเริ่มใช้บังคับวันที่ 1 ธันวาคม 2497ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองสำนวนกล่าวอ้างว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทระหว่างปี พ.ศ. 2507 ถึงปี พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงมิใช่ผู้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่พิพาทก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับส่วนจำเลยกล่าวอ้างในคำให้การว่า จำเลยกับสามีได้ครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 แม้จะได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นการได้สิทธิครอบครองที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ แต่จำเลยกับสามีก็หาได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาตามที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 5 บัญญัติไว้ไม่ และในคดีที่สามีจำเลยถูกพนักงานอัยการดำเนินคดีฟ้องในข้อหาแผ้วถางก่นสร้างป่าทำเป็นไร่สวนและปลูกบ้านอาศัยในที่ดินรายพิพาทโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ปรากฎว่า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐสามีจำเลยเข้ายึดถือครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต และมิได้สนใจที่จะปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 แม้สามีจำเลยจะครอบครองทำประโยชน์มาอย่างไรและได้เสียค่าบำรุงท้องที่มาเพียงใดก็ไม่ลบล้างสภาพที่ดินอันเป็นของรัฐตลอดเวลาที่ยึดถือครอบครองอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยต่างไม่มีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในที่พิพาทโดยชอบถึงหากข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่าโจทก์ได้เข้าแย่งการครอบครองที่พิพาทจากจำเลยเกินกว่าหนึ่งปีแล้วและคงอยู่ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ก็เป็นการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์

แต่อย่างไรก็ดี ตามคำฟ้องของโจทก์มีคำขอให้ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาท และให้จำเลยถอนคำขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออก น.ส.3 ก. อันเป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนซึ่งมีอำนาจฟ้องได้ จำเลยให้การต่อสู้ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้ออกหลักฐานสิทธิการครอบครองแก่จำเลยโดยสั่งการมายังผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัดได้ดำเนินการตามคำสั่งนั้นโดยสั่งให้นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลย ที่ดินของรัฐตกเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย เห็นว่าถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยให้การต่อสู้ จำเลยอาจมีสิทธิครอบครองที่พิพาทดีกว่าโจทก์ โดยการที่รัฐจัดที่ดินให้แก่จำเลยตามกฎหมาย ชอบที่จะฟังข้อเท็จจริงต่อไปก่อน หาควรด่วนงดสืบพยานไม่

พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share