คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 962-963/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรับฟังข้อเท็จจริงว่าพระเจ้าทรงธรรมทรงอุทิศที่ป่ารอบรอยพระพุทธบาทเป็นบริเวณออกไปหนึ่งโยชน์ หรือ 16 กิโลเมตรเพื่อสร้างวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ที่มีมานานกว่า 300 ปีโดยไม่มีผู้รู้เห็นโดยตรงหลงเหลืออยู่ จะต้องรับฟังจากคำบอกเล่า และเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้เป็นสำคัญ.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลสั่งรวมพิจารณา สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8593 ของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การว่าที่พิพาทเป็นของวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จำเลยที่ 2 ที่ให้จำเลยที่ 1 เช่า สำนวนหลังจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 มีการออกโฉนดที่ดินทับที่พิพาทของจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนโฉนดเลขที่ 4593 ของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 8593 และให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ทางพิจารณาจำเลยทั้งสองนำสืบก่อนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีประมาณ 300 ปีมาแล้ว เนื่องจากทางเมืองสระบุรีรายงานว่าพรานบุญพบรอยเท้าใหญ่บนไหล่เขา พระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นมีลักษณะเป็นรอยพระพุทธบาทต้องตามตำราที่ทรงทราบมาจากเมืองลังกา พระองค์จึงทรงอุทิศถวายที่ดินรอบรอยพระพุทธบาทหนึ่งโยชน์ให้วัดจำเลยที่ 2 และทรงรับสั่งให้ช่างสร้างมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท สร้างพระอุโบสถพระวิหารศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ สำหรับพระภิกษุสงฆ์บริบาลรอยพระพุทธบาทจำเลยที่ 2 ได้เก็บผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวบำรุงวัดตลอดมา ปี พ.ศ. 2479 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาทอันเป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 โดยปักหลักเขตตามแผนที่ท้ายกฤษฎีกา เอกสารหมาย ล.12 เมื่อทางราชการตัดถนนพหลโยธินจากสระบุรีไปลพบุรีได้ตัดผ่านที่ดินของจำเลยที่2 ด้านทิศเหนือห่างมณฑป 1 กิโลเมตร ปี พ.ศ. 2497 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่อยู่ทางทิศเหนือของถนนพหลโยธินเพื่อให้กรมประชาสงเคราะห์สร้างนิคมพระพุทธบาทที่ดินของจำเลยที่ 2 จึงเหลือประมาณ 6,500 ไร่ ที่ดินแปลงพิพาทอยู่ทางใต้ของถนนพหลโยธินภายในหลักเขตตามพระราชกฤษฎีกาพ.ศ. 2479 จำเลยที่ 1 ได้เช่าที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 ปลูกบ้านอาศัยตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ค่าเช่าตารางวาละ 20 สตางค์ต่อเดือนเมื่อ พ.ศ. 2524 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่พิพาทโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์ซึ่งมีโฉนด จำเลยที่ 2 จึงทราบว่าโฉนดของโจทก์ได้ออกทับที่ดินของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบทำให้จำเลยทั้งสองเสียหาย
โจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8593เนื้อที่ 1 งาน 28 ตารางวา ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท ได้รับมรดกมาจากนายบ่ายบิดาตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา เมื่อ พ.ศ. 2525 จำเลยที่ 1 เข้าไปปลูกบ้านอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ออกจากที่พิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย ซึ่งอาจให้ผู้อื่นเช่าได้เดือนละ2,000 บาท
พิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว โจทก์ฎีกาว่าตามพงศาวดารที่กล่าวว่าพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศที่ดินรอบรอยพระพุทธบาทออกไป 1 โยชน์ ซึ่งเท่ากับ 16 กิโลเมตร ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างขวางหากจะยึดถือตามพงศาวดารแล้ว จะเป็นความเชื่ออย่างเลื่อนลอยปราศจากเหตุผลนั้น ปรากฏว่าวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารสร้างมานานเกินกว่า 300 ปีแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ขณะนั้นย่อมไม่มีผู้รู้เห็นโดยตรงหลงเหลืออยู่ จึงต้องรับฟังจากคำบอกเล่าและเอกสารทางประวัตศาสตร์ที่เชื่อถือได้เป็นสำคัญดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1758-1759/2516 คดีระหว่างกรมการศาสนา โจทก์ นางศิริ แสงสี กับพวกจำเลย รอยพระพุทธบาทสถิตย์อยู่บนเนินเขาในป่าใหญ่ เห็นว่าการเชื่อว่าพระเจ้าทรงธรรมทรงอุทิศถวายที่ป่ารอบรอยพระพุทธบาทเป็นบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งจะเป็นการเชื่ออย่างเลื่อนลอยปราศจากเหตุผลก็หาไม่เพราะเมื่อพบรอยพระพุทธบาทนั้นพระเจ้าทรงธรรมโสมนัสศรัทธาอย่างยิ่งถึงขนาดโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างมหาเจดีย์สถานมีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทและสังฆารามที่พระสงฆ์อยู่บริบาลและสร้างพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระบาท 1 แห่งด้วย เมื่อมีการก่อสร้างสถานที่สำคัญใหญ่โตถึงเพียงนี้ ก็ย่อมต้องประกอบไปด้วยปริมณฑลกว้างขวางเป็นธรรมดา โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่พระเจ้าทรงธรรมยกให้วัด จำเลยที่ 2 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะอุทธรณ์โจทก์มิได้มีความหมายเช่นนั้น พิเคราะห์แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีโดยฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารจำเลยที่ 2 โดยพระเจ้าทรงธรรมพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงอุทิศที่ดินบริเวณโดยรอบรอยพระพุทธบาทในรัศมี 1 โยชน์ให้เป็นของวัดตั้งแต่ศักราช 968 พระเจ้าทรงธรรมเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานที่ดินให้แก่ผู้ใดก็ได้ อุทธรณ์โจทก์ยอมรับว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มีพระราชอำนาจจริงดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังว่าพระเจ้าทรงธรรมพระราชทานที่ดินแก่วัดจำเลยที่ 2 โจทก์ยกเหตุผลในอุทธรณ์ว่า โฉนดที่ดินพิพาทออกให้โดยทางราชการตั้งแต่วันที่ 30เมษายน 2460 อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนได้ จึงต้องถือว่าการออกโฉนดที่ดินพิพาทมีผลลบล้างการมีพระราชอุทิศที่ดินดังกล่าวของพระเจ้าทรงธรรมได้ เห็นว่าอุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวแม้มิได้ยอมรับโดยตรงว่าพระเจ้าทรงธรรมทรงอุทิศที่พิพาทแก่วัด จำเลยที่ 2 แต่โดยนัยย่อมเข้าใจได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าความจริงโจทก์รู้จักเขตที่พิพาทและเคยเข้าครอบครองโจทก์ไม่เคยรู้มาก่อนว่าที่พิพาทเป็นของวัดจำเลยที่ 2 และวัดจำเลยที่ 2 ก็ไม่เคยบอกกล่าวให้โจทก์หรือบิดาโจทก์ทราบว่าที่พิพาทเป็นที่ซึ่งพระเจ้าทรงธรรมทรงอุทิศให้นั้น เห็นว่าแม้ความจริงเป็นดังที่โจทก์อ้างเป็นกรณีที่น่าเห็นใจ แต่เป็นเรื่องที่รัฐจะพิจารณา หามีผลทำให้จำเลยที่ 2 ขาดจากกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายโดยขอให้พิจารณาพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท ฯ พ.ศ. 2479 และพระราชกฤษฎีกาถอนการหวงห้ามที่ดินบางส่วนบริเวณพระพุทธบาท ฯ พ.ศ. 2497 ว่ามีเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะหวงห้ามเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น มิได้รวมถึงที่ดินซึ่งประชาชนได้กรรมสิทธิ์โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า คดีนี้ไม่มีปัญหาและไม่มีประโยชน์ที่จะต้องวินิจฉัยถึงพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว เพราะที่พิพาทมีเจ้าของมาก่อนแล้ว มิใช่ที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ และมิได้มีข้อความให้ยกเลิกเพิกถอนกรรมสิทธิ์ของวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อีกทั้งมิได้บัญญัติถึงว่าผู้ได้เข้าจับจองที่ดินอยู่ก่อนแล้ว ให้ถือว่เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ ฉะนั้น ที่พิพาทจึงหาเป็นที่พิพาทจึงหาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ’.

Share