แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิปลงศพบุตรให้สมแก่ฐานานุรูปโจทก์ทั้งสองได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเป็นทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์หัวลากจูง18 ล้อ หมายเลขทะเบียน 71-7053 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร5 ต-8913 ซึ่งมีนางสาวยุวดี บุตรโจทก์ที่ 1 เป็นคนขับนางสาวยุวพรบุตรโจทก์ที่ 1 และนางสาววราพร บุตรโจทก์ที่ 2นั่งซ้อนท้ายล้มคว่ำลง และบุคคลทั้งสามถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันจัดงานศพเสียค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 136,900 บาท จากการตายของบุตรเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองต้องขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากบุตรคนละ 2,000,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังต้องจ่ายค่าพาหนะไปติดต่อขอรับศพและจัดงานศพอีกรายละ 2,800 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน4,094,066.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 94,066.66 บาท นับแต่วันละเมิดและของต้นเงิน 4,000,000 บาทนับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนถึงวันชำระเสร็จและแก่โจทก์ที่ 2จำนวน 2,048,433.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 48,433.33 บาท นับแต่วันทำละเมิดและของต้นเงิน2,000,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งสองเรียกร้องค่าเสียหายมาเป็นจำนวนสูงกว่าความเป็นจริงขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน1,163,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน83,400 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2534 และของจำนวน 1,080,000บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2537 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงินจำนวน 583,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 43,100 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2534และของต้นเงิน 540,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2537จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 นอกจากนี้ให้ยก
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองใช้จ่ายไปนั้นสูงเกินฐานานุรูปหรือไม่ ตามบัญชีค่าใช้จ่ายในการปลงศพ เอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าได้ใช้จ่ายไปในการปลงศพผู้ตายทั้งสามนั้นเห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้จัดการปลงศพตามประเพณีคนจีน ศาลล่างทั้งสองได้พิจารณากำหนดให้ตามความเหมาะสม ไม่ได้กำหนดให้เต็มจำนวนทุกรายการตามที่ปรากฎในเอกสารดังกล่าว แม้ว่าโจทก์ทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ทั้งสองจะไม่มีสิทธิปลงศพบุตรโจทก์ทั้งสองให้สมแก่ฐานานุรูปโจทก์ทั้งสองได้ ค่าใช้จ่ายตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อพิจารณาแล้วเป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นตามประเพณีและเหมาะสมในการปลงศพและจำเลยทั้งสองก็ไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้ใช้จ่ายไปในการปลงศพมากเกินกว่าความจำเป็น ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการปลงศพของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นการฟุ่มเฟือยในฐานะคนรวมเกินกว่าความจำเป็นตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด ศาลล่างทั้งสองได้พิจารณากำหนดให้ตามความจำเป็นและเป็นจำนวนปานกลางที่เหมาะสมแก่ฐานานุรูปของโจทก์ทั้งสองแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการสุดท้ายวาโจทก์ทั้งสองสมควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะจำนวนเท่าใด โจทก์ทั้งสองเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะมารายละ 2,000,000 บาท นั้นเห็นว่าผู้ตายทั้งสามยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน เมื่อจบการศึกษาและมีงานทำผู้ตายทั้งสามสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองได้อย่างเต็มที่ในฐานะของบุตรที่จะอุปการะเลี้ยงดูมารดาของตนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ทั้งสองเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี สำหรับผู้ตายแต่ละคนนั้นแม้ตามความเป็นจริงจำนวนค่าเสียหายดังกล่าวจะไม่สามารถทดแทนความสูญเสียของโจทก์ทั้งสองได้ แต่ก็เป็นค่าขาดไร้อุปการะที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน