คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9783/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46วรรคสองนั้นมีความหมายว่าเป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วยซึ่งสภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างสิ้นสุดลงไม่ใช่เรื่องกาให้ลูกจ้างหยุดงานเพียงชั่วคราวซึ่งสภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดลงและลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างให้หยุดงานชั่วคราวลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกเอาได้ส่วนข้อความที่ว่า”ไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด”ในกฎหมายดังกล่าวนั้นก็หมายถึงมูลเหตุของกรณีที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดโดยไม่จ่ายค่าจ้างนั้นเองมิใช่กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวหรือพักงานแต่อย่างใดเช่นนี้การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยเพื่อรอการลงโทษจนกว่าคดีอาญาที่โจทก์ต้องหาว่าลักทรัพย์ของนายจ้างจะถึงที่สุดนั้นนับว่าเป็นการให้ลูกจ้างหยุดงานเป็นการชั่วคราวสภาพการเป็นนายจ้างลูกจ้างยังคงมีอยู่ต่อไปไม่ใช่เป็นกรณีจำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดเพราะเมื่อคดีถึงที่สุดปรากฎว่าโจทก์ไม่มีความผิดจำเลยก็ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยเลิกจ้างและจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้แก่โจทก์เพราะการที่โจทก์ไม่ได้ทำงานนั้นเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยเองก็ไม่มอบงานให้ทำแต่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์การสั่งพักงานโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับค่าจ้างค่าชดเชย เงินโบนัส และเงินอื่น ๆ ที่โจทก์มีสิทธิได้รับได้แก่เงินค่าครองชีพเดือน เบี้ยขยัน และค่าเสียหาย จากการขาดรายได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการต่อสู้คดีขอคิดเป็นเงินเท่ากับค่าชดเชยจำนวน 26,100 บาท รวมเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 59, บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 59,075.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2538เวลากลางคืนลูกจ้างจำเลยได้แก้ตัวโจทก์ นายแสงเทียน มะโนศิลาและนายศุภชัย ธีระชาติ ร่วมกันลักรองเท่ากีฬายี่ห้อรีบอค2 คู่ ราคา 5,000 บาท ไปจากโรงงานจำเลยเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมของกลาง คดีอยู่ระหว่างพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการฟ้องศาลต่อไป จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์เพียงแต่พักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลคดีอาญาซึ่งโจทก์ถูกกล่าวหาว่าร่วมลักทรัพย์ของจำเลยเพราะถ้าโจทก์ยังทำงานกับจำเลยในระหว่างถูกดำเนินคดีอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอีกหากปรากฎว่าพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยก็จะยกเลิกคำสั่งพักงานและรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายและดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน โจทก์แถลงรับว่าได้รับเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินโบนัสตามฟ้องจากจำเลยเรียบร้อยแล้ว คู่ความรับข้อเท็จจริงกันอีกว่า คำสั่งพักงานของจำเลยปรากฎตามเอกสารหมาย จ.ล.1 การพักงานเป็นไปตามเอกสารท้ายคำแถลงฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2539 หมาย จ.ล.2 ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ แล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง โดยร่วมกับผู้อื่นลักทรัพย์ของจำเลย จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้ แต่จำเลยลงโทษในสถานที่เบากว่า โดยให้โจทก์พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งเป็นคุณยิ่งกว่า จึงย่อมกระทำได้ทั้งคำสั่งพักงานดังกล่าวปรากฎตามเอกสารหมาย จ.ล.1 ก็กำหนดให้การพักงานมีผลจนกว่าคดีอาญาถึงที่สุด ซึ่งฟังได้ว่าหากโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยจะให้โจทก์เข้าทำงานต่อไปตั้งแต่นั้น มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ไม่ให้ทำงาน ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินค้าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินอื่น ๆคือค่าครองชีพ เบี้ยขยัน และค่าเสียหายตามฟ้อง ส่วนค่าจ้างค้างจ่ายและเงินโบนัสตามฟ้องโจทก์ได้รับจากจำเลยเรียบร้อยแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์โดยไม่จ่ายค่าจ้างเป็นการเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ระบุว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้” นั้น มีความหมายว่าเป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาด โดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วยซึ่งสภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างสิ้นสุดลง ไม่ใช่เรื่องการให้ลูกจ้างหยุดงานเพียงชั่วคราว ซึ่งสภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดลงและลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างให้หยุดงานชั่วคราว ลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกเอาการได้ ส่วนข้อความที่ว่า “ไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด”นั้นก็หมายถึงมูลเหตุของกรณีที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดโดยไม่จ่ายค่าจ้างนั่นเอง มิใช่กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวหรือพักงานแต่อย่างใด เช่นนี้การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยเพื่อรอการลงโทษจนกว่าคดีอาญาที่โจทก์ต้องหาว่าลักทรัพย์ของนายจ้างจะถึงที่สุดนั้น นับว่าเป็นการให้ลูกจ้างหยุดงานเป็นการชั่วคราวสภาพการเป็นนายจ้างลูกจ้างคงมีอยู่ต่อไป ไม่ใช่เป็นกรณีจำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยเลิกจ้างและจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้แก่โจทก์ เพราะการที่โจทก์ไม่ได้ทำงานนั้นเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยเองก็ไม่มอบงานให้ทำ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ การสั่งพักงานโจทก์ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานดังที่ยกมากล่าวข้างต้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามที่อุทธรณ์ขอมา
พิพากษายืน

Share