แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด…” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าว ภายหลังพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงมีผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังเวลา 60 วัน เท่านั้น แต่หนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นหนี้ประธานหาใช่ค่าภาระติดพันอันเป็นหนี้อุปกรณ์ตามบทบัญญัติของมาตรา 686 วรรคสอง ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 298,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 42,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 340,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์เดือนละ 4,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแล้วเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 220,000 บาท และชำระค่าขาดประโยชน์ 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 12,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 กันยายน 2559) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 1,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแล้วเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกิน 9 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 220,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 2,400 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 2,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแล้วเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 9 เดือน โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 5,000 บาท ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน กษ 3552 ขอนแก่น ไปจากโจทก์ ในราคา 497,880 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือนรวม 72 งวด ชำระงวดละ 6,915 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 17 มิถุนายน 2556 งวดต่อไปทุกวันที่ 17 ของทุกเดือน มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญา จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 29 งวด รวมเป็นเงิน 200,535 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 30 ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมาเกินกว่า 3 งวด ติดต่อกัน โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 โดยระบุที่อยู่ของจำเลยทั้งสองตามที่อยู่ในสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน ปรากฏว่าส่งให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ โดยจดหมายส่งคืนต้นทาง ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 แต่เมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้แล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทน กับค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 220,000 บาท และให้ชำระค่าขาดประโยชน์เดือนละ 2,500 บาท นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงิน 25,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 2,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนโจทก์หรือใช้ราคาเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 9 เดือน สำหรับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการค้ำประกันออกมาใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา คดีนี้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว และแม้ว่าสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจะทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกัน ให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้”
มีปัญหาตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่โจทก์ไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงการผิดนัดภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อผิดนัด ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้ตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นหนี้ประธานหรือไม่ หรือหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้เท่านั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด…” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าว ภายหลังพ้นกำหนดเวลา 60 วันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงมีผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังเวลา 60 วัน เท่านั้น แต่หนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นหนี้ประธานหาใช่ค่าภาระติดพันอันเป็นหนี้อุปกรณ์ตามบทบัญญัติของมาตรา 686 วรรคสอง ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นในหนี้ดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 220,000 บาท และร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ