คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และมาตรา 9 ให้เพิ่มเติมมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด แต่ในส่วนบทกำหนดโทษได้มีมาตรา 17 ยกเลิกมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเพียงสถานเดียว ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ของกฎหมายเดิมมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 26, 66, 76, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7, 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 26 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสาม, 76 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 1 เดือน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด (ที่ถูก แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครอง จำคุก 15 วัน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 สถานเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบเมทแอมเฟตามีน พืชกระท่อมสด รถยนต์ ไขควงไฟฟ้า และโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 5045 xxxx ของกลาง ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 06 2112 xxxx ให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้เมทแอมเฟตามีน 605,640 เม็ด มีน้ำหนักสุทธิ 57,394.200 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 9,648.508 กรัม พืชกระท่อมสด 90 ใบ น้ำหนัก 97.960 กรัม และรถกระบะเป็นของกลาง โดยเมทแอมเฟตามีนและพืชกระท่อมสดดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในรถกระบะของกลาง สำหรับจำเลยที่ 2 คดีเป็นที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยที่ 2
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายณัฐพงษ์ร่วมกันเดินทางจากจังหวัดสระบุรีมาที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยใช้รถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งคือรถกระบะของกลาง ต่อมาจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้รถกระบะของกลางขนเมทแอมเฟตามีน แต่ระหว่างเดินทางมาถูกเจ้าพนักงานตำรวจดักสกัดจับ จำเลยที่ 2 หลบหนีไปพักที่โรงแรมนัธยา รุ่งเช้าวันถัดมาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์อีกคันไปรับจำเลยที่ 2 และนายณัฐพงษ์แล้วพากันหลบหนีออกจากจังหวัดนครพนม โดยช่วงเวลาก่อนถูกเจ้าพนักตำรวจสกัดจับรถกระบะของกลางต่อเนื่องจนถึงช่วงเวลาภายหลังถูกสกัดจับแล้วหลบหนีจนรุ่งเช้าที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปรับจำเลยที่ 2 และนายณัฐพงษ์มีการโทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนายณัฐพงษ์เป็นช่วง ๆ อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นเกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 มาโดยตลอดนับตั้งแต่ร่วมกันเดินทางจากจังหวัดสระบุรีมาที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม แล้วจำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนมาซุกซ่อนในรถกระบะของกลางและเดินทางโดยรถดังกล่าวไปถูกสกัดจับจึงหลบหนีไปพักโรงแรมนัธยาจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปรับจำเลยที่ 2 แล้วพากันเดินทางหลบหนีออกจากจังหวัดนครพนม การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดคดีนี้ ดังนี้ บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่า และพยานซัดทอดมีพยานหลักฐานอื่นของโจทก์มาประกอบ จึงใช้ในการรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เลิกกับนางสุธิตราตั้งแต่ปี 2547 และไม่ได้ติดต่อกันแล้ว ช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อยู่ที่จังหวัดตรัง จำเลยที่ 1 ขายรถกระบะของกลางให้นายประสพโชคไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 ตั้งแต่ปี 2557 จำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 หมายเลข คือ 08 2727 xxxx, 08 0641 xxxx และ 06 2129 xxxx สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0641 xxxx จำเลยที่ 1 ลืมไว้ในรถที่ขายให้นายประสพโชคไป ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2558 นายประสพโชคโอนเงินค่าซื้อรถส่วนที่เหลือมาให้ วันที่ 12 เมษายน 2558 ที่เจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจค้นบ้านนางสุธิตราและพบจำเลยที่ 1 อยู่ในบ้านนั้นจำเลยที่ 1 เพิ่งเดินทางมาถึงตั้งใจจะเอาเงินที่ได้จากการขายรถมาแบ่งให้แก่บุตรนั้น เห็นว่า พยานจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏหลักฐานการขายรถกระบะของกลางให้นายประสพโชคแต่อย่างใด คงปรากฏตามเอกสารซึ่งยึดได้จากรถกระบะของกลางเป็นสำเนารายการจดทะเบียนรถกระบะของกลางระบุว่านายประสพโชคเป็นเจ้าของรถ วันที่ครอบครองรถวันที่ 19 มกราคม 2558 เท่านั้น แต่จำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนว่ารถมีชื่อนายประสพโชคจริง แต่เป็นของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงโอนให้นายประสพโชคเพื่อการอำพรางเท่านั้น ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านายประสพโชคโอนเงินค่ารถส่วนที่เหลือมาให้วันที่ 27 มีนาคม 2558 นั้นไม่มีหลักฐานอย่างใดมาแสดง แต่กลับปรากฏในบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 1 และนายณัฐพงษ์ว่ามีเงินฝากเข้าทั้งสองบัญชีหลายครั้งจำนวนเหมือนกันในวันที่ 27 มีนาคม 2558 แล้วในวันเดียวกันทั้งสองบัญชีต่างก็มีการถอนเงินออกเหมือนกันจำนวน 490,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบว่าเงินที่ฝากเข้าในบัญชีจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเงินค่าอะไรและใครโอนมาให้ อีกทั้งไม่มีหลักฐานใดแสดงว่านายประสพโชคได้ครอบครองใช้รถกระบะของกลาง ประกอบกับพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบดังที่ได้วินิจฉัยมานั้นบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 ยังคงเกี่ยวข้องกับรถกระบะของกลางโดยร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้เป็นยานพาหนะเดินทางมาจังหวัดนครพนม แล้วต่อมามีการนำรถไปขนเมทแอมเฟตามีน คดีฟังไม่ได้ว่า มีการขายและส่งมอบรถกระบะของกลางให้นายประสพโชคตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง และจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0641 xxxx เป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ขายรถคันดังกล่าวให้นายประสพโชคจริง ข้ออ้างว่าลืมโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0641 xxxx ไว้ในรถที่ขายให้นายประสพโชคจึงรับฟังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างฐานที่อยู่ในขณะเกิดเหตุว่าอยู่ที่จังหวัดตรังโดยมีนายทองคำเป็นพยานเบิกความรู้เห็นนั้น เห็นว่า นายทองคำเป็นพี่ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่พยานคนกลาง เชื่อว่าเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้ไม่ต้องรับโทษ คำเบิกความมีน้ำหนักน้อยไม่อาจรับฟัง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า รายการใช้โทรศัพท์ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความจริงเพราะไม่มีการรับรองจากผู้ให้บริการโดยตรง รายการดังกล่าวไม่อาจยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ใช้โทรศัพท์ และเป็นการพูดคุยโทรศัพท์เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดหรือไม่ และว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ใช้โทรศัพท์หมายเลข 08 0641 xxxx โดยจำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์อีกเครื่องมีหมายเลข 06 2112 xxxx เห็นว่า เอกสารมีรายละเอียดของข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0641 xxxx หมายเลข 09 8131 xxxx และหมายเลข 09 288 4xxx ตามลำดับ เชื่อได้ว่าเป็นข้อมูลที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวจัดทำขึ้นมาจากข้อมูลที่บันทึกไว้ในเครื่องอุปกรณ์ที่ให้บริการ พันตำรวจโทสมคะเนเบิกความประกอบเอกสารว่า นำข้อมูลการใช้โทรศัพท์ดังกล่าวซึ่งขอมาจากผู้ให้บริการเครือข่าย AIS มาจัดทำรายงานชี้แจงความเชื่อมโยงการใช้โทรศัพท์ดังกล่าว ดังนี้ เชื่อได้ว่า เอกสารมีที่มาจากผู้ให้บริการโทรศัพท์โดยถูกต้องแท้จริง จึงรับฟังได้ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0641 xxxx และเมื่อข้ออ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายรถกระบะของกลางให้นายประสพโชคและได้ลืมโทรศัพท์ดังกล่าวไว้ในรถที่ขายนั้นฟังไม่ขึ้นดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่มีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ดังกล่าวในวันเกิดเหตุหรือไม่ ส่วนที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 06 2112 xxxx มาใช้นานแล้ว และไม่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 06 2112 xxxx นานแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0641 xxxx ในวันเกิดเหตุนั้น เห็นว่า พยานโจทก์มีข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางสุธิตราหมายเลข 08 4790 xxxx และหมายเลข 06 2258 xxxx กับมีข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 หมายเลข 06 2112 xxxx และมีข้อมูลการใช้โทรศัพท์หมายเลข 08 0641 xxxx แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุโทรศัพท์ของนางสุธิตราทั้งสองหมายเลขมีรายการโทรศัพท์ติดต่อกับโทรศัพท์หมายเลข 08 0641 xxxx ไม่มีรายการโทรศัพท์ติดต่อกับโทรศัพท์หมายเลข 06 2112 xxxx โดยโทรศัพท์ของนางสุธิตราหมายเลข 08 4790 xxxx เริ่มมีรายการโทรศัพท์ติดต่อกับหมายเลข 06 2112 xxxx ครั้งแรกในวันที่ 4 เมษายน 2558 ส่วนหมายเลข 06 2258 xxxx เริ่มมีรายการโทรศัพท์ติดต่อกับหมายเลข 06 2112 xxxx ครั้งแรกในวันที่ 5 เมษายน 2558 ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าช่วงเวลาเกิดเหตุคดีนี้ยังมีการใช้โทรศัพท์หมายเลข 08 0641 xxxx โทรศัพท์ติดต่อกับนางสุธิตราซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ส่วนโทรศัพท์หมายเลข 06 2112 xxxx เพิ่งปรากฏมีการโทรศัพท์ติดต่อกับนางสุธิตราในช่วงเวลาภายหลังเกิดเหตุแล้ว 2 ถึง 3 วัน ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ได้ใช้โทรศัพท์หมายเลข 08 0641 xxxx นานแล้วนั้นไม่อาจรับฟัง ตามหลักฐานการโทรศัพท์ดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0641 xxxx ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ได้ติดต่อกับนางสุธิตราเพราะแยกทางกันตั้งแต่ปี 2547 แล้วนั้น ขัดกับการที่เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านนางสุธิตราวันที่ 12 เมษายน 2558 ได้พบจำเลยที่ 1 อยู่ในบ้าน และเอกสารที่ตรวจค้นพบอยู่ในบ้านเป็นบัตรรับประกันสินค้าลงวันที่ซื้อสินค้าวันที่ 21 มิถุนายน 2557 ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กับนางสุธิตรายังมีการติดต่อกันอยู่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 0641 xxxx โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 และนายณัฐพงษ์ในระหว่างที่มีการกระทำความผิดตามฟ้อง คดีจึงฟังได้ว่าการโทรศัพท์ติดต่อกันนั้นเป็นการโทรศัพท์ติดต่อเกี่ยวกับการขนเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ซุกซ่อนมาในรถกระบะของกลางเพื่อจะไปส่งให้ผู้ซื้อ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และมาตรา 9 ให้เพิ่มเติมมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับ ในส่วนบทความผิด และมาตรา 17 ให้ยกเลิกมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสองที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเพียงสถานเดียว ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ของกฎหมายเดิมมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (เดิม), 76 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 500 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 250 บาท เมื่อรวมโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และปรับ 500 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 250 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29/1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share