คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2911/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 2 บัญญัติว่า ทางหลวง หมายความรวมถึงอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงและเพื่อประโยชน์แก่งานทางนั้นด้วย ดังนั้น ที่ทำการพัสดุทางหลวง ซึ่งจำเลยปลูกสร้างลงในที่พิพาทเป็นอาคารที่เก็บสิ่งของวัสดุที่ใช้ในกิจการงานทางเพื่อประโยชน์แก่ทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี – ปากท่อ จึงอยู่ในความหมายของคำว่า ทางหลวงตามบทนิยามข้างต้นคำว่าเขตทางหลวงตามบทนิยามย่อมมีความหมายครอบคลุมถึงเขตที่ดินที่สร้างพัสดุทางหลวงด้วย หาใช่เฉพาะเขตที่ดินที่ใช้สร้างทางเพื่อการจราจรไม่ การเวนคืนที่พิพาทในเขตโฉนดของโจทก์จึงเป็นไปโดยชอบตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ข้อ 1 แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเอาคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๖๘๒ ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒๔ ตารางวา ซึ่งถูกเวนคืนสร้างทางหลวงสายธนบุรี-ปากท่อ โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๒๕ โดยได้สร้างเป็นทางหลวงดังกล่าว ๑ ไร่ ๓ งาน ๖๖ ตารางวา ส่วนที่เหลือ ๒ ไร่ ๕๘ ตารางวา ซึ่งอยู่นอกเขตทางหลวง จำเลยใช้สร้างที่ทำการพัสดุทางหลวง ซึ่งไม่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปกระทำการใดๆ ในที่ดินของโจทก์ส่วนนั้น
จำเลยให้การว่าที่ดินของโจทก์ถูกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๒๕ พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๔๑,๔๗ เวนคืนให้กรมทางหลวงทั้งแปลงเพื่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๓๕ สายธนบุรี – ปากท่อ ส่วนหนึ่งส่วนที่เหลือ ๒ ไร่ ๕๘ ตารางวา ที่จำเลยใช้สร้างที่ทำการพัสดุทางหลวงนั้น จำเลยมีอำนาจทำได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๕ พ.ศ. ๒๕๑๕
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าที่พิพาทที่ใช้สร้างพัสดุทางหลวงตกเป็นของจำเลยตามกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ว่าที่พิพาทมิได้อยู่ในเขตทางหลวง จำเลยไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเวนคืนที่พิพาทเพื่อสร้างพัสดุทางหลวง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๖๘๒ ของโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างถนนสายธนบุรี – ปากท่อ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตทางหลวง ดังกล่าว พ.ศ. ๒๕๐๘ ใช้บังคับ ต่อมามีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๒๕ พ.ศ. ๒๕๑๕ ใช้บังคับ ให้มีผลเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๔๑,๔๗ และ มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๕ พ.ศ. ๒๕๑๕ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยให้ใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๕ นั้นแทน ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนใช้สร้างทางหลวง ๑ ไร่ ๓ งาน ส่วนที่เหลือคือที่พิพาทใช้สร้างที่ทำการพัสดุทางหลวง ปัญหามีว่าที่พิพาทซึ่งถูกเวนคืนนำมาใช้สร้างพัสดุทางหลวงชอบหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๕ พ.ศ. ๒๕๑๕ ข้อ ๒ บัญญัติว่า “ทางหลวงหมายความว่าทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ฯลฯ และให้หมายความรวมถึงอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงและเพื่อประโยชน์แก่งานทางนั้นด้วย” ดังนั้น พัสดุทางหลวงที่จำเลยสร้างในที่พิพาทเป็นอาคารสำหรับเก็บสิ่งของวัสดุที่ใช้ในกิจการงานทางเพื่อประโยชน์แก่ทางหลวงสายดังกล่าว จึงอยู่ในความหมายของคำว่าทางหลวงตามบทนิยมข้างต้น คำว่าเขตทางหลวงในบทนิยามย่อมมีความหมายครอบคลุมถึงเขตที่ดินที่สร้างพัสดุทางหลวงด้วย การเวนคืนที่ดินตามโฉนด ๖๖๘๒ ของโจทก์ จึงเป็นไปโดยชอบตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๕ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share