คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.เจริญค้าบริการ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 300,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันเชื้อเพลง มีนายพินิจ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ร่วมมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน บท 4273 กาญจนบุรี นางสาวมนัสชนก บุตรของนายพินิจนำรถยนต์ของโจทก์ร่วมไปใช้ในกิจการร้านชานมไข่มุก ชื่อร้าน “โอว่ะ” ต่อมานายพินิจมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนรถยนต์แก่โจทก์ร่วมภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือตามหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์ร่วมโดยนายพินิจทำหนังสือมอบอำนาจให้นายสุรัตน์ชัย หรือนายยงยุทธิ์ ดำเนินคดีแก่จำเลยตามหนังสือมอบอำนาจ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางชัน กล่าวหาว่าจำเลยยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยยืมรถยนต์ของโจทก์ร่วมไปใช้ เมื่อโจทก์ร่วมมีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนรถยนต์แก่โจทก์ร่วมภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 9 และ 10 มิถุนายน 2558 และต้องคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมในวันที่ 17 มิถุนายน 2558 แต่จำเลยไม่คืนให้ถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ร่วมร้องทุกข์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายพินิจและนางสาวมนัสชนกเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อประมาณปลายปี 2556 นางสาวมนัสชนกยืมรถยนต์ของโจทก์ร่วมจากนายพินิจไปใช้ในกิจการร้านชานมไข่มุก ชื่อร้าน “โอว่ะ” ที่นางสาวมนัสชนกร่วมดำเนินกิจการกับจำเลย ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 นางสาวมนัสชนกขายกิจการส่วนของตนให้แก่จำเลย ส่วนรถยนต์ของโจทก์ร่วมนั้น จำเลยขอยืมไว้ใช้ในกิจการต่อสักระยะ นายพินิจจึงอนุญาตเพราะเข้าใจว่ายืมเพียง 1 ถึง 2 เดือนเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 เดือน จำเลยยังไม่คืนรถยนต์ นายพินิจสอบถามนางสาวมนัสชนกแล้วได้รับแจ้งว่าจำเลยขอยืมต่ออีกสักระยะ นายพินิจพยายามทวงคืนรถยนต์ของโจทก์ร่วมผ่านนางสาวมนัสชนก แต่จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2558 นางสาวมนัสชนกแจ้งให้นายพินิจทราบว่าจำเลยไม่คืนรถยนต์ให้ โดยอ้างว่ารถเป็นของจำเลยแล้ว นายพินิจจึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนรถยนต์แก่โจทก์ร่วม แต่จำเลยไม่คืนให้ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าหลังจากนางสาวมนัสชนกไม่ร่วมธุรกิจกับจำเลยแล้ว จำเลยขอยืมรถยนต์ของโจทก์ร่วมไว้ใช้ในกิจการต่อสักระยะ หลังจากนั้นนายพินิจทวงถามนางสาวมนัสชนกเรื่อยมา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2558 นางสาวมนัสชนกแจ้งให้นายพินิจซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ร่วมทราบว่าจำเลยไม่คืนรถยนต์ให้ โดยอ้างว่า รถเป็นของจำเลยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ร่วมทราบว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอารถยนต์ของโจทก์ร่วมไปในวันดังกล่าว เพราะเป็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีนี้ และอายุความเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ส่วนการที่รถยนต์ของโจทก์ร่วมเสียภาษีประจำปีครั้งสุดท้ายวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ครบกำหนดเสียภาษีครั้งต่อไปวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 แต่ไม่มีการต่อภาษีประจำปีอีกนั้น ปรากฏตามสำเนารายการจดทะเบียนว่ารถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลซึ่งจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 จึงเป็นรถที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ในการต่อภาษีประจำปีแต่ละครั้งจะต้องนำรถยนต์ไปตรวจสภาพก่อนจึงจะต่อภาษีประจำปีได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวรถยนต์ของโจทก์ร่วมอยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่โจทก์ร่วมยังไม่ต่อภาษีประจำปี จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นการตอบโต้การกระทำของจำเลยเพื่อมิให้นำรถยนต์ของโจทก์ร่วมไปใช้บนถนนสาธารณะได้ตามปกติ อันจะถือว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share