แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องได้เลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 โดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับในการดำเนินคดีของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 การที่พนักงานเดินหมายไปปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านเพื่อแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนตามทะเบียนราษฎร์ที่ผู้ร้องมีชื่ออยู่ โดยผู้คัดค้านไม่ได้นำส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2), 77 และ มาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว เมื่อกรณีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ และทำให้กระบวนพิจารณาหลังจากนั้นต่อมาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และเมื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านแล้ว กรณีต้องย้อนไปดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2543 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวีระศักดิ์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเลียกจั๊ว ผู้ตาย ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2553 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตาย ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ กล่าวคือ มิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จตามกำหนด มิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท ทั้งผู้ร้องทำหนังสือขอสละมรดกของผู้ตายแล้วขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกพร้อมกับมีคำสั่งตั้งนางเยาวลักษณ์หรือฉัตรชัยสุชาเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยในการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านให้แก่ผู้ร้อง ครั้งแรกเจ้าพนักงานศาลนำส่งที่บ้านเลขที่ 1714 ถนนอ่อนนุช แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร แต่ส่งไม่ได้ เพราะบ้านเลขที่ดังกล่าวรื้อถอนไปแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งไปยังที่อยู่ใหม่ของผู้ร้องตามที่ผู้คัดค้านแถลงว่าผู้ร้องเปลี่ยนชื่อเป็น สหรัฐ และย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 418/41 หมู่ที่ 5 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับวันที่ 31 มกราคม 2554 โดยวิธีปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้าน ผู้ร้องไม่ยื่นคำคัดค้านและไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องขอของผู้คัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2554 ให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และมีคำสั่งตั้งนางเยาวลักษณ์หรือฉัตรชัยสุชาเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ครั้นวันที่ 2 มิถุนายน 2554 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ถนนสุขุมวิท 105 ซอยลาซาล 14 (วงศ์สวัสดิ์ 1) แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องไม่เคยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 418/41 หมู่ที่ 5 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านไปที่บ้านดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมิได้จงใจที่จะไม่ยื่นคำคัดค้านและขาดนัดพิจารณา หากศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดีใหม่ผู้ร้องมีทางชนะคดี เพราะข้ออ้างของผู้คัดค้านเป็นความเท็จ นางเยาวลักษณ์หรือฉัตรชัยสุชาไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก หนังสือขอสละมรดกของผู้ร้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และการดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำร้องขอไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ประกาศหนังสือพิมพ์เรื่องขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะไต่สวนคำร้องขอ ขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านและนางเยาวลักษณ์หรือฉัตรชัยสุชาผู้จัดการมรดกของผู้ตายคนใหม่ยื่นคำคัดค้านในทำนองเดียวกันว่า การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของผู้ร้องเป็นความเท็จ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 ไปยังที่อยู่ใหม่ของผู้ร้องโดยวิธีปิดหมาย ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับวันที่ 31 มกราคม 2554 และเพิกถอนกระบวนพิจารณาหลังจากนั้นทั้งหมด รวมทั้งคำสั่งที่ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งนางเยาวลักษณ์หรือฉัตรชัยสุชา เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคำสั่งศาลชั้นต้นวันที่ 18 เมษายน 2554 และมีคำสั่งใหม่ว่า ให้ส่งหมายนัดพร้อมสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านไปยังที่อยู่ของผู้ร้องตามที่ระบุไว้ในคำร้องขอ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด ถ้าจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านก่อนหรือในวันนัดมิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน ให้ผู้คัดค้านนำส่งภายใน 7 วัน และประกาศนัดไต่สวนให้ผู้คัดค้านวางเงินค่าประกาศหนังสือพิมพ์ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งคำร้องขอโดยให้นัดไต่สวนคำร้องขอของผู้คัดค้านใหม่
ผู้คัดค้านและนางเยาวลักษณ์หรือฉัตรชัยสุชา ผู้จัดการมรดกของผู้ตายคนใหม่อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นรับเป็นอุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้าน
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 2 มิถุนายน 2554 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุที่จะให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในการส่งคำคู่ความให้แก่ผู้ร้องหรือไม่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องไม่เคยได้รับสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้าน และผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงที่อยู่ใหม่จากบ้านเลขที่ 46/10 ถนนสุขุมวิท 105 ซอยลาซาล 14 (วงศ์สวัสดิ์ 1) แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องเพิ่งทราบว่าถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามจดหมายของนางเยาวลักษณ์หรือฉัตรชัยสุชาฉบับลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 ที่ส่งถึงนางสาวเปรมจิตร พี่ของผู้ร้องที่พักอาศัยอยู่กับผู้ร้องที่บ้านดังกล่าว ต่อมานางเยาวลักษณ์ส่งจดหมายผ่านนางสาวเปรมจิตร ถึงผู้ร้องให้ส่งมอบทรัพย์มรดก ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ที่บ้านดังกล่าว ขณะผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก นางเยาวลักษณ์เคยส่งจดหมายถึงผู้ร้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ที่บ้านดังกล่าว และคดียักยอกทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก ผู้ร้องยืนยันที่อยู่ที่บ้านดังกล่าวตามสำเนาคำร้องฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 นอกจากนี้ทายาทหลายคนเคยส่งจดหมายหลายฉบับถึงผู้ร้องที่บ้านดังกล่าว กรณีดังกล่าวแสดงว่า ผู้ร้องมีเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าได้เลือกเอาบ้านดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับติดต่อทุกคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย แม้ว่าผู้ร้องมีชื่อในทะเบียนราษฎร์ ต่างหากจากบ้านดังกล่าวนั้นก็ตาม โดยในชั้นไต่สวนผู้ร้องนำสืบว่า ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบันผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ถนนสุขุมวิท 105 ซอยลาซาล 14 (วงศ์สวัสดิ์ 1) แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร โดยมีอดีตภริยาของผู้ร้องเป็นเจ้าบ้าน เดิมผู้ร้องมีชื่ออยู่ที่บ้านเลขที่ 1714 ถนนอ่อนนุช แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ต่อมาบ้านดังกล่าวถูกรื้อถอนออกไป ครั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ผู้ร้องย้ายชื่อไปอยู่บ้านเลขที่ 418/41 หมู่ที่ 5 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นบ้านร้างไม่มีบุคคลอาศัย ผู้คัดค้านนำสืบว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่ผู้ร้องและเป็นน้องนางเยาวลักษณ์ การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านครั้งแรกส่งไม่ได้ หลังจากนั้นตรวจสอบที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์พบว่า ผู้ร้องมีที่อยู่ จึงส่งหมายดังกล่าวได้ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2543 ซึ่งระบุแต่แรกว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ถนนสุขุมวิท 105 ซอยลาซาล 14 (วงศ์สวัสดิ์ 1) แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทหลายคน รวมทั้งนางเยาวลักษณ์เคยส่งจดหมายหลายฉบับไปที่บ้านดังกล่าว คดียักยอกทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก ผู้ร้องยืนยันที่อยู่บ้านเลขที่ 46/20 ตามสำเนาคำร้องขอฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความตอบทนายผู้ร้องถามค้านรับว่า ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องอยู่ที่บ้านดังกล่าวย่อมเป็นการบ่งชี้ว่าฝ่ายผู้คัดค้านเองก็ทราบว่าผู้ร้องอยู่บ้านหลังนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ร้องได้เลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 โดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับในการดำเนินคดีนี้ของผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 42 ดังนั้น การที่พนักงานเดินหมายไปปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านเพื่อแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนตามทะเบียนราษฎร์ที่ผู้ร้องมีชื่ออยู่ โดยผู้คัดค้านไม่ได้นำส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 (2), 77 และ มาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว เมื่อกรณีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ และทำให้กระบวนพิจารณาหลังจากนั้นต่อมาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และเมื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านแล้ว กรณีต้องย้อนไปดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ ทำให้ไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องที่เหลืออีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ