คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความสรุปได้ว่า ส่วนความเสียหายของรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ฌป 7852 กรุงเทพมหานครนั้น พ.ผู้ครอบครองรถยนต์จะใช้สิทธิการซ่อมตามประกันภัยของตน ส่วนความเสียหายจากเหตุดังกล่าวได้เรียกร้อง ป. (จำเลยที่ 1) เป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 บาท ซึ่ง ป. ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ พ. แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่าย ป. จากข้อความดังกล่าวแสดงว่า พ. ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ประสงค์ที่จะให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมตามสัญญาประกันภัยที่เจ้าของรถยนต์ได้ทำไว้กับโจทก์ ส่วนความเสียหายจากเหตุดังกล่าวได้เรียกร้องจาก ป. เป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 บาท ซึ่ง ป. ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ พ. แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่าย ป. นั้น เป็นกรณีที่ พ. เรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถยนต์ที่ พ. จะพึงได้รับจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 1 ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ไม่ทำให้สิทธิในการเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์ อันเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชดใช้ไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 109,360.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 104,776.15 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 104,776.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 4,584 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ผจ 0260 นครราชสีมา คันเกิดเหตุซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองและเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนสรรพสิทธิ์ จากสามแยกหน้าเรือนจำจังหวัดนครราชสีมามุ่งหน้าไปทางสถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา ด้วยความประมาทโดยขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถควบคุมบังคับรถยนต์ได้เป็นเหตุให้ชนรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ฌป 7852 กรุงเทพมหานคร ที่นายพิเชษฐ์ ขับไปจอดไว้หน้าบ้านพักผู้อำนวยการเรือนจำจังหวัดนครราชสีมาซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโตโยต้าโคราช 1988 เสียค่าแรงและค่าอะไหล่เป็นเงิน 104,776.15 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งทำให้มูลหนี้ละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายพิเชษฐ์ ตัวแทนเจ้าของรถยนต์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ระงับไป อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ละเมิดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อความที่ระบุไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีแล้ว มีข้อความสรุปได้ว่า ส่วนความเสียหายของรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ฌป 7852 กรุงเทพมหานคร นั้น นายพิเชษฐ์ผู้ครอบครองรถยนต์จะใช้สิทธิการซ่อมตามประกันภัยของตน ส่วนความเสียหายจากเหตุดังกล่าวได้เรียกร้องนายปัตทวี เป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 บาท ซึ่งนายปัตทวีได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นายพิเชษฐ์แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่ายนายปัตทวีฯ จากข้อความดังกล่าวแสดงว่านายพิเชษฐ์ ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ประสงค์ที่จะให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมตามสัญญาประกันภัยที่เจ้าของรถยนต์ได้ทำไว้กับโจทก์ ส่วนความเสียหายจากเหตุดังกล่าวได้เรียกร้องจากนายปัตทวีเป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 บาท ซึ่งนายปัตทวีได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นายพิเชษฐ์แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่ายนายปัตทวี นั้น เป็นกรณีที่นายพิเชษฐ์เรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถยนต์ ที่นายพิเชษฐ์จะพึงได้รับจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยให้เหตุผลและรายละเอียดต่างๆ ไว้ชอบแล้ว ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างนายพิเชษฐ์กับจำเลยที่ 1 ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ไม่ทำให้สิทธิในการเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์ อันเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชดใช้ไปได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ผจ 0260 นครราชสีมา ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ไปขับ หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้เรียกจำเลยทั้งสองไปเจรจาเรื่องค่าเสียหายที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดว่าเป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ตามบันทึกยอมรับผิด โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในบันทึกดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ จำเลยที่ 2 นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปฝากขายที่เต็นท์รถ ชื่อ “นัทรถบ้าน” เจ้าของเต็นท์เป็นกำนันตำบลดอนหวายมีความสนิทสนมกับจำเลยที่ 2 หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากเต็นท์รถว่าจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ไปขับจนเกิดเหตุอุบัติเหตุ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ไปที่สถานีตำรวจและเห็นจำเลยที่ 1 เจรจาเรื่องค่าเสียหายกับเจ้าของรถยนต์ที่ได้รับอุบัติเหตุ จำเลยที่ 2 ร่วมรับฟังการเจรจาด้วย จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อยอมรับผิดในบันทึก จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และไม่ได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ในเรื่องนี้หลังจากเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน หากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ตนเองนำสืบมาจริง เหตุใดจำเลยที่ 2 ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ตนเองกล่าวอ้างต่อพนักงานสอบสวน และหลังจากวันที่ 11 พฤษภาคม 2552 ที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกยอมรับผิดว่าเป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในบันทึกดังกล่าวแล้ว ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2552 ในวันที่จำเลยที่ 1 ตกลงค่าเสียหายกับนายพิเชษฐ์และเจ้าของรถยนต์อีกคันหนึ่งที่ถูกเฉี่ยวชนด้วยตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี จำเลยที่ 2 ก็ไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมาด้วยและอยู่ในขณะที่มีการเจรจาเรื่องค่าเสียหายกัน หากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ตามที่กล่าวอ้างก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมาในวันที่มีการเจรจาเรื่องค่าเสียหายและอยู่ร่วมด้วยในขณะที่มีการเจรจาเรื่องค่าเสียหายอีก ทั้ง ๆ ที่บันทึกยอมรับผิดและรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ต่างทำขึ้นที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมาและทำขึ้นคนละวันกันห่างกันประมาณ 1 เดือน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีความเกี่ยวพันกับจำเลยที่ 1 จึงติดตามจำเลยที่ 1 ไปที่สถานีตำรวจทั้งสองครั้ง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำเจ้าของเต็นท์รถมานำสืบตามที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยให้เหตุผลและรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share