คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญของศาลที่ได้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้เงินเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวที่กองพิสูจน์หลักฐานขอให้ศาลชั้นต้นจัดส่งไป ผลการตรวจพิสูจน์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า น่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องขอยกเลิกการตรวจพิสูจน์โดยอ้างว่าจำเลยไม่สามารถชำระค่าตรวจพิสูจน์ได้ แล้วมีรอยขีดฆ่าและตกเติมข้อความใหม่ในคำร้องว่าจำเลยไม่ประสงค์จะชำระค่าตรวจพิสูจน์ เพราะเป็นอัตราที่สูงมากซึ่งขัดต่อคำเบิกความและคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่ามีฐานะทางการเงินดี แต่ค่าตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานเรียกให้ชำระเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยที่จำเลยที่ 1 สามารถชำระได้โดยไม่เดือดร้อน การขอยกเลิกการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวจึงส่อพิรุธว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้ผลการตรวจพิสูจน์แล้วจึงขอยกเลิก อย่างไรก็ดีแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการตรวจพิสูจน์ตามคำขอของจำเลยที่ 1 แต่ในขณะที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญของศาลได้ตรวจพิสูจน์เสร็จเรียบร้อยและได้แจ้งผลการตรวจพิสูจน์ไปยังศาลชั้นต้นแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกเลิกการตรวจพิสูจน์จึงไม่อาจลบล้างผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากธนาคารโจทก์ สาขาบางปลาสร้อย (ชลบุรี) เป็นเงิน 1,000,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ซึ่งขณะทำสัญญาเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่โจทก์จะประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 ตกลงจะผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนอย่างน้อยเดือนละ 25,000 บาท โดยผ่อนชำระให้ก่อนวันที่ 4 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะผ่อนชำระให้แก่โจทก์เสร็จ หากผิดนัดเดือนใดเดือนหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 29107 ตำบลบ้านเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ไปเรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญา ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้โจทก์เพียง 21 ครั้ง แล้วผิดนัดโจทก์จึงมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วก็ไม่ชำระหนี้ให้ รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 1,310,695.46 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,310,695.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี จากต้นเงิน 963,956.95 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ ลายมือชื่อผู้กู้ยืมเงินในสัญญากู้เงินไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เคยติดต่อให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากโจทก์ และโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงิน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์และจดทะเบียนจำนองทรัพย์จำนองไว้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินตามฟ้องจากโจทก์หรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ได้นำนายดำเกิง ธำรงสินถาวร ทนายความผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ และนายพงศ์กิจ เติมกิจธนสาร เบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งพยานทั้งสองแม้จะไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 แต่เมื่อพิเคราะห์ลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ ที่กองพิสูจน์หลักฐานขอให้ศาลชั้นต้นจัดส่งไปให้ เช่น แบบคำขอสินเชื่อลงวันที่ 1 ธันวาคม 2535 และรายละเอียดประเภทสินเชื่อ เป็นต้น และโจทก์ได้ส่งเอกสารต่างๆ ต่อศาลชั้นต้นตามคำร้องลงวันที่ 16 ธันวาคม 2541 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งไปแล้ว ปรากฏว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 คล้ายคลึงกับลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ ที่ระบุว่า เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องลงวันที่ 21 ธันวาคม 2541 คัดค้านว่า เอกสารต่างๆ เป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์และโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นเองโดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบมาก่อน แต่เอกสารดังกล่าวมีข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยที่ 1 รายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันรวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 1 ได้กระทำกับโจทก์ไว้และมีลายมือชื่อระบุว่า เป็นของจำเลยที่ 1 ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้แก่โจทก์จริง โจทก์ไม่น่าจะบันทึกขึ้นมาเองได้ เอกสารดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยที่ 1 เคยลงลายมือชื่อไว้ นอกจากนี้ยังมีตั๋วแลกเงินท้ายคำแถลงลงวันที่ 29 มกราคม 2542 ที่มีลายมือชื่อระบุว่าเป็นของจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ลายมือชื่อซึ่งปรากฏว่าคล้ายกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในแบบกรอกคะแนนการประเมินผลประจำปีระดับประถมศึกษาเอกสารหมาย ล.1 และคล้ายกับลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ด้วย ฝ่ายจำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้เงินตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 แต่จำเลยที่ 1 เคยพาจำเลยที่ 2 ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 มีที่ดินอยู่ในจังหวัดชลบุรีอันเป็นการนำสืบสนับสนุนคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่อาจรับฟังได้อย่างถนัด เพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนจำนองที่ดินค้ำประกันหนี้รายนี้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมอยู่แล้ว ถ้าจำเลยที่ 2 ประสงค์จะกู้ยืมเงินจากโจทก์ก็น่าจะลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้จากโจทก์โดยตรง ย่อมจะดีกว่าและไม่ยุ่งยาก แม้จำเลยที่ 1 จะมีนายสมศักดิ์ เสนีย์ศรีสกุล ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะทางการเงินดีไม่เคยกู้ยืมเงินใครก็มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ เพราะนายสมศักดิ์เป็นเพียงผู้บังคับบัญชาซึ่งอาจไม่เคยให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินและไม่ได้รู้เห็นขณะที่มีการทำสัญญากู้เงินรายนี้จะทราบได้อย่างไรว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์จริงหรือไม่ นอกจากนี้ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญของศาลที่ได้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้กู้เงินเอกสารหมาย จ.7 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ ที่กองพิสูจน์หลักฐานขอให้ศาลชั้นต้นจัดส่งไปรวมทั้งลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในแบบกรอกคะแนนการประเมินผลประจำปีระดับประถมศึกษา ปีการศึกษา 2534, 2538 และ 2539 กับสมุดคำสั่งรวม 4 เล่ม และตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ที่เขียนต่อหน้าศาลชั้นต้น 14 แผ่น เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่นั้น ผลการตรวจพิสูจน์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่ามีคุณสมบัติของการเขียนรูปลักษณะของตัวอักษรและลายเส้นเป็นอย่างเดียวกัน แต่เนื่องจากเป็นการตรวจลายมือชื่อที่มีจำนวนตัวอักษรน้อยและมีลายเส้นน้อย ในกรณีนี้น่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญของศาลดังกล่าวไม่มีเหตุควรจะระแวงว่า ผู้เชี่ยวชาญจะเอนเอียงเพื่อช่วยเหลือฝ่ายใด จึงเจือสมพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 ขอยกเลิกการตรวจพิสูจน์โดยอ้างว่าจำเลยไม่สามารถชำระค่าตรวจพิสูจน์ได้ แล้วมีรอยขีดฆ่าและตกเติมข้อความใหม่ในคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะชำระค่าตรวจพิสูจน์ เพราะเป็นอัตราที่สูงมาก ซึ่งขัดต่อคำเบิกความและคำร้องฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2541 ของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่ามีฐานะทางการเงินดีโดยเฉพาะมีเงินฝากอยู่กับโจทก์เป็นจำนวนสูงถึง 4,000,000 บาท แต่ค่าตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานเรียกให้คู่ความชำระเพียง 40,020 บาท ซึ่งเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยที่จำเลยที่ 1 สามารถชำระได้โดยไม่เดือดร้อน การขอยกเลิกการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงส่อพิรุธว่า จำเลยที่ 1 ได้รู้ผลการตรวจพิสูจน์แล้วจึงขอยกเลิก อย่างไรก็ดีแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 มิถุนายน 2542 ให้ยกเลิกการตรวจพิสูจน์ตามคำขอของจำเลยที่ 1 แต่ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญของศาลได้ตรวจพิสูจน์เสร็จเรียบร้อยและได้แจ้งผลการตรวจพิสูจน์ไปยังศาลชั้นต้นแล้วตามหนังสือที่ ตช 0026.23/1059 ลงวันที่ 29 เมษายน 2542 และใบรับฝากไปรษณียภัณฑ์ในประเทศ ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2542 ท้ายหนังสือที่ ตช 0026.29/1997 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2542 ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกเลิกการตรวจพิสูจน์จึงไม่อาจลบล้างผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญได้ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินตามฟ้องไปจากโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 29107 ตำบลบ้านเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้โดยยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ตามลำดับ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดและโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อคำนวณยอดหนี้ตามบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.13 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์รวม 21 ครั้ง ครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2539 คงค้างชำระต้นเงิน 963,956.95 บาท และดอกเบี้ย 142,577.72 บาท รวมเป็นเงิน 1,106,534.67 บาท จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 2 และ 6 ที่ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเอาได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,106,534.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และประกาศของธนาคารโจทก์ตั้งแต่ฉบับแรกถึงฉบับสุดท้าย จากต้นเงิน 963,956.95 บาท นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปต้องไม่เกินร้อยละ 19.5 ต่อปี และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 346,738.51 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 29107 ตำบลบ้านเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท

Share