คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14267/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดลักทรัพย์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์ เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นสิทธิในทางแพ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้อาศัยมูลความผิดในทางอาญา แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องเนื่องจากโจทก์ประพฤติผิดอย่างร้ายแรงด้วยการกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้าง และแม้ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและยกฟ้องในส่วนของโจทก์แล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลแรงงานกลางจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟังและวินิจฉัยมา ที่ศาลแรงงานกลางให้คู่ความนำพยานเข้าสืบถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ แล้วนำมาวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของโจทก์ในคดีนี้จึงสามารถกระทำได้
โจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานประจำในห้องการเงิน แต่เมื่อ ว. มาซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 และนำสินค้าไปยังเครื่องคิดเงิน โจทก์ได้ไปทำหน้าที่คิดเงินให้แก่ ว. ซึ่งปรากฏรายการสินค้าที่ ว. ได้รับไปโดยโจทก์ไม่ได้คิดเงินจำนวน 7 รายการ คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,931 บาท โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในหน้าที่คิดราคาค่าสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อนำส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน ย่อมมีความชำนาญในการทำงานในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่คิดเงินจากสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. เนื่องจากหลงลืมและเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน แต่สินค้าจำนวน 7 รายการ ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลักษณะชิ้นใหญ่สามารถมองเห็นและตรวจสอบได้ง่าย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการคิดเงินค่าสินค้าแต่กลับไม่คิดเงินค่าสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. ทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างเสียหายไม่ได้รับชำระค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์อาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 15,463 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชย 78,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินสมทบ 10,662.04 บาท และผลประโยชน์ของเงินสมทบ 1,536.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยทุกจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งพนักงานอาวุโส สาขาบางนา มีหน้าที่คิดราคาและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้า ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,870 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 29 ของเดือน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2548 ได้มีบุคคลภายนอกโทรศัพท์แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่าให้ระวังพฤติการณ์ของโจทก์เกี่ยวกับการทุจริต วันที่ 13 ธันวาคม 2548 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา นางสาววันเพ็ญ ได้เข้าไปซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อนางสาววันเพ็ญนำสินค้าไปคิดเงิน โจทก์ซึ่งในวันนั้นมีหน้าที่ต้องทำงานประจำอยู่ในห้องการเงินได้ไปทำหน้าที่คิดเงินค่าสินค้าให้แก่นางสาววันเพ็ญ หลังจากนั้นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบหลักฐานการซื้อสินค้าของนางสาววันเพ็ญ พบว่ามีสินค้าประเภทเบียร์ขนาดกล่อง 24 กระป๋อง และสินค้าอื่นอีกจำนวนหนึ่งติดสติกเกอร์แสดงว่าได้ชำระเงินแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการชำระเงินในใบเสร็จรับเงิน สินค้าจำนวน 7 รายการ ที่ไม่มีการคิดเงินจากนางสาววันเพ็ญปรากฏตามบัญชีของกลางคดีอาญา จำเลยที่ 1 จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจนำโจทก์กับนางสาววันเพ็ญไปดำเนินคดีอาญา และจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2548 ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า นางสาววันเพ็ญมีความผิดฐานลักทรัพย์และยกฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์ คู่ความไม่ได้โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องของเอกสาร แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 หลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน โดยระบุความผิดของโจทก์โดยชัดแจ้งพยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และเมื่อโจทก์กระทำผิดร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ
การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ในวันที่ 6 มิถุนายน 2550 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย เมื่อจำเลยนำพยานเข้าสืบ 3 ปาก แล้วแถลงหมดพยาน ศาลแรงงานกลางบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีสิ้นสุดการพิจารณา ให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 มิถุนายน 2550 เวลา 9 นาฬิกา นั้น ในวันดังกล่าวโจทก์มิได้แถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ความแจ้งชัดว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลยที่ 1 อย่างไร ศาลแรงงานกลางก็ควรเรียกพยานหลักฐานมาสืบเอง ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาว่าโจทก์มิได้นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 แล้วนำมาเป็นผลร้ายแก่โจทก์ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 นั้น เมื่อปรากฏข้อความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางฉบับลงวันที่ 6 มิถุนายน 2550 ว่าโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โดยหลังจากวันนัดดังกล่าวจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์คัดค้านว่าการบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตาม ที่โจทก์แถลงแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่เคยแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยานนั้นจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดี เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลแรงงานกลางจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดลักทรัพย์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์ จึงเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นสิทธิในทางแพ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้อาศัยมูลความผิดในทางอาญา แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องเนื่องจากโจทก์ประพฤติผิดอย่างร้ายแรงด้วยการกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้าง และแม้ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและยกฟ้องในส่วนของโจทก์แล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลแรงงานกลางจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟังและวินิจฉัยมา ที่ศาลแรงงานกลางให้คู่ความนำพยานเข้าสืบถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ แล้วนำมาวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของโจทก์ในคดีนี้นั้น จึงสามารถกระทำได้ อุทธรณ์ของโจทก์ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าการที่โจทก์คิดเงินผิดพลาดไปบ้างไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าในวันเกิดเหตุโจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานประจำในห้องการเงิน แต่เมื่อนางสาววันเพ็ญมาซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 และนำสินค้าไปยังเครื่องคิดเงิน โจทก์ได้ไปทำหน้าที่คิดเงินให้แก่นางสาววันเพ็ญ ซึ่งปรากฏรายการสินค้าที่นางสาววันเพ็ญได้รับไปโดยโจทก์ไม่ได้คิดเงินจำนวน 7 รายการ ได้แก่ เบียร์กระป๋องยี่ห้อลีโอ จำนวน 3 แพ็ค ราคา 1,050 บาท กาแฟกระป๋องยี่ห้อเบอร์ดี้ จำนวน 1 แพ็ค ราคา 59 บาท น้ำดื่มตราลีดเดอร์เพลช จำนวน 2 แพ็ค ราคา 116 บาท โต๊ะรีดผ้า จำนวน 1 ตัว ราคา 329 บาท แผ่นซีดีหนังเรื่องเจ้าหนูแสนซน จำนวน 1 แผ่น ราคา 129 บาท แผ่นซีดีหนังเรื่องห้องเช่าหลอนจำนวน 1 แผ่น ราคา 149 บาท แผ่นซีดีหนังเรื่องแหยมยโสธร จำนวน 1 แผ่น ราคา 99 บาท คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,931 บาท โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในหน้าที่คิดราคาค่าสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อนำส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน ย่อมมีความชำนาญในการทำงานในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่คิดเงินจากสินค้าจำนวน 7 รายการ จากนางสาววันเพ็ญเนื่องจากหลงลืมและเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน แต่สินค้าจำนวน 7 รายการ ดังกล่าวก็เป็นสินค้าที่มีลักษณะชิ้นใหญ่สามารถมองเห็นและตรวจสอบได้ง่าย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการคิดเงินค่าสินค้าแต่กลับไม่คิดเงินค่าสินค้าจำนวน 7 รายการ จากนางสาววันเพ็ญ ทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างเสียหายไม่ได้รับชำระค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์อาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share