แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพ รับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 3 มีใบหน้าคล้ายบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มิได้หมายความว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป คดีอาญาไม่ว่าจำเลยจะให้การเช่นใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเสมอว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ แต่ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำผิดจริง ดังนั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้นจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 288 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 25 ปี ริบเหล็กแป๊บและเศษเก้าอี้พลาสติกของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้เหล็กแป๊บและเก้าอี้พลาสติกเป็นอาวุธตีที่บริเวณศีรษะและใบหน้าของนายโรจน์ ผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมยึดเหล็กแป๊บและเศษเก้าอี้พลาสติกเป็นของกลาง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 25 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังคงลงโทษตามศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปในที่เกิดเหตุกับจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับพยานโจทก์ปากนายวรฤทธิ์และนายอัสสรัตน์ที่เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ชกต่อยและใช้เหล็กแป๊บจะเข้าทำร้ายนายวรฤทธิ์ภายในร้าน แต่นายเรืองศักดิ์เจ้าของร้านห้ามปรามไว้ และจำเลยที่ 3 ใช้เก้าอี้พลาสติกสีน้ำเงินฟาดนายอัสสรัตน์ได้รับบาดเจ็บ หลังจากจำเลยที่ 1 และพวกออกจากร้านไปเพียง 5 นาที พยานโจทก์ทั้งสองก็ได้ยินเสียงเหมือนคนถูกทุบทำร้ายร้องขอความช่วยเหลือ 2 ครั้ง จากนั้นได้ออกไปดูนอกร้านก็พบผู้ตายนอนอยู่กลางถนนและมีเลือดไหลออกจากศีรษะจำนวนมาก พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเห็นและจดจำจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ แม้ไม่เห็นขณะที่ผู้ตายถูกตีก็ตาม แต่ก็ยืนยันว่ามีการใช้เวลาทำร้ายผู้ตายเพียง 5 นาที ไม่นานผู้ตายก็ถึงแก่ความตาย มีเลือดไหลออกจากศีรษะจำนวนมาก ย่อมแสดงว่ามีคนร้ายหลายคนรุมทำร้ายผู้ตายด้วยอาวุธอย่างรุนแรงจนทำให้ถึงแก่ความตายในเวลาอันรวดเร็ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การรับสารภาพและอยู่ในกลุ่มของจำเลยที่ 1 ในสถานที่เกิดเหตุ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เหล็กแป๊บและเก้าอี้พลาสติกตีผู้ตายบริเวณศีรษะ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญโดยเจตนาฆ่าจนถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนมีการซัดทอดจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น เห็นว่า ตามฎีกาของโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย แม้โจทก์จะมีนายวรฤทธิ์ นายอัสสรัตน์ และนายเรืองศักดิ์มาเบิกความเป็นพยานก็ตาม แต่พยานโจทก์ดังกล่าวก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมซึ่งใกล้ชิดสถานที่เกิดเหตุ แต่ไม่ใช่พยานแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ดังที่โจทก์อ้าง เพราะพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวไม่เห็นเหตุการณ์ที่คนร้ายใช้เหล็กแป๊บและเก้าอี้เป็นอาวุธฆ่าผู้ตายเลย ด้วยเหตุมีประตูร้านค้าปิดกั้น ไว้ คงได้ยินแต่เสียง และเมื่อเปิดประตูร้านค้าออกไปดูก็คงพบแต่ผู้ตายนอนอยู่บนถนนหน้าร้านค้า ไม่พบคนร้ายเลย ที่ว่าใครเป็นคนร้ายก็เบิกความว่า คนร้ายมีหลายคนตามที่คาดหมายเอาโดยไม่เห็นเอง ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและให้การซัดทอดจำเลยที่ 2 ด้วย ก็ปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนเพียงว่า จำเลยที่ 1 กับพวกมีจำเลยที่ 2 และนายสุริยานั่งดื่มสุรากันอยู่แล้วทะเลาะกับนายโรจน์ และจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้เหล็กแป๊บและเก้าอี้ตีทำร้ายที่ศีรษะของนายโรจน์เป็นเหตุให้นายโรจน์ถึงแก่ความตายเท่านั้น ไม่มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 ร่วมใช้เหล็กแป๊บและเก้าอี้ตีทำร้ายที่ศีรษะของผู้ตายแต่อย่างใด ซึ่งพวกของจำเลยที่ 1 มิใช่จะมีเพียงจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น เพราะนายเรืองศักดิ์เจ้าของร้านค้าก็เบิกความว่า จำเลยที่ 1 มากับพวกประมาณ 5 คน ทั้งปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ และตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาและฐานความผิดเพิ่มเติมตาม ก็ระบุว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยืนยันให้การปฏิเสธ ส่วนครั้งแรกที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธแล้วต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพนั้น ก็เป็นขั้นตอนหลังจากศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธีตามขั้นตอนระเบียบของศาลชั้นต้นไปแล้ว ทั้งยังมีข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อมา เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 3 มีใบหน้าคล้ายบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มิได้หมายความว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป คดีอาญาไม่ว่าจำเลยจะให้การเช่นใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเสมอว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ คดีนี้แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ แต่ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำผิดจริง ดังนั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน