คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 (เดิม) มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่โจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 33, 43 (4), 78, 157, 160 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 300
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวรัตนา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาและให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์และใช้สิทธิอุทธรณ์ความผิดฐานดังกล่าวได้ โจทก์ร่วมไม่ฎีกา ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ถือว่าเป็นการอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 (เดิม) มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 กล่าวคือ โจทก์ร่วมต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่โจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องดังที่กล่าวข้างต้น ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมานั้น ชอบแล้ว และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share